คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. .... 

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 ได้มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป เป็นการขยายระยะเวลาที่จะบังคับใช้วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท จากเดิมบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2559 เลื่อนเป็นตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 โดยมีการทยอยปรับวงเงินคุ้มครองเป็นลำดับขั้น ดังนี้

วงเงินการคุ้มครองเงินฝาก

ระยะเวลา

กำหนดวงเงินความคุ้มครองเงินฝาก

ปัจจุบัน ถึงวันที่ 10 ส.ค. 2559

จำนวน 25 ล้านบาท

ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2559 ถึง 10 ส.ค. 2561

จำนวน 15 ล้านบาท

ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2561 ถึง 10 ส.ค. 2562

จำนวน 10 ล้านบาท

ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2562 ถึง 10 ส.ค. 2563

จำนวน 5 ล้านบาท

ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป

จำนวน 1 ล้านบาท

ปัจจุบันสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกและเสถียรภาพของเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นจากปี 2558 จากการคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ตลอดจนสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง และอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การปรับปรุงวงเงินความคุ้มครองเงินฝาก โดยการขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นการชั่วคราวและลดลงอย่างเป็นลำดับขั้น จะเป็นการสร้างความมั่นใจและเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นการชั่วคราวและลดลงอย่างเป็นลำดับขั้นจะทำให้ผู้ฝากเงินมีระยะเวลาในการปรับตัวเพิ่มขึ้นที่จะบริหารจัดการเงินฝาก และเงินลงทุนอย่างเหมาะสม

2. ร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 เกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการจ่ายคืนเงินฝากแก่ผู้ฝากเงิน และกระบวนการดำเนินงานของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ยกเลิกการกำหนดให้ผู้ฝากเงินมายื่นขอรับเงินภายหลังที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยให้ สคฝ.จ่ายคืนเงินฝากแก่ผู้ฝากเงินตามจำนวนเงินฝากที่ปรากฏในบัญชีของผู้ฝากเงินทุกบัญชีรวมกัน โดยหักหนี้คงค้างทั้งจำนวนจากเงินฝากดังกล่าวก่อน โดยจ่ายคืนภายใน 30 วันนับแต่วันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต

  • กำหนดให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย เพื่อประโยชน์ในการชำระบัญชี

  • กำหนดให้กรรมการในคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน ซึ่งเสนอชื่อโดย สคฝ. แจ้งข้อมูลการดำเนินการต่อ สคฝ.

  • กำหนดให้ สคฝ. มีอำนาจเพิ่มเติมในการกู้ยืมเงิน นอกจากการออกตราสารทางการเงินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ สคฝ. กำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี

  • กำหนดให้คณะกรรมการ สคฝ.รายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรายครึ่งปี

ทั้งนี้ ผู้ฝากเงินจะได้รับคืนเงินฝากรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการยกเลิกขั้นตอนการยื่น คำขอคืนเงินฝาก และการหักหนี้คงค้างทั้งจำนวนก่อนการจ่ายคืนเงืนฝาก ตลอดจนการกำหนดให้กรรมการควบคุมที่ สคฝ. เสนอชื่อแจ้งข้อมูลการดำเนินการแก่ สคฝ. ทำให้ สคฝ.สามารถเตรียมความพร้อมใน การจ่ายคืนเงินฝากและชำระบัญชีหากสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ส่งผลให้ป้องกันความตื่นตระหนกในการระดมถอนเงินฝากเป็นจำนวนมากจากสถาบันการเงินในระบบ อันจะเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงต่อระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม


ปรับปรุงล่าสุด 29 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก