ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงิน และพัฒนาการของระบบประกันเงินฝากนานาชาติ

ในปีที่ผ่านมา ภาคการเงินทั่วโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจากการวิเคราะห์พบว่ามีความท้าทายสำคัญใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องเร่งหาแนวทางและมาตรการในการประคับประคองเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะชะลอตัวและกลับมาเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นอีกครั้งหลังจากภาวะวิกฤต และปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเงินของโลกที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด พัฒนาการของการให้บริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) นั้น นอกจากจะเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการ เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ เพิ่มระดับการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) และส่งเสริมการแข่งขันในภาคการเงิน ยังถือเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับประสิทธิภาพของการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน ตลอดจนพัฒนาระบบประกันเงินฝากให้สอดรับกับนวัตกรรมทางการเงินและพฤติกรรมของผู้ฝาก ด้วยเหตุนี้ การติดตามประเด็นของภาคการเงินในระดับสากล รวมถึงพัฒนาการของการดำเนินงานของหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานประกันเงินฝากในต่างประเทศ จึงจำเป็นสำหรับการสร้างความแข็งแกร่งของระบบการเงินไทย

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 สถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาประจำปี คณะสถาบันประกันเงินฝาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้สมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศ The 20th IADI APRC International Conference ในรูปแบบ Virtual Conference โดยสถาบันได้กำหนดหัวข้อสัมมนาเป็น Gearing Towards the New Financial Landscape ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเงินโลกที่ก่อให้เกิดภูมิทัศน์ภาคการเงินใหม่ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินรูปแบบดิจิทัล อาทิ เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เป็นต้น อันเป็นพัฒนาการที่สำคัญต่อหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงิน หน่วยงานแก้ไขปัญหาทางการเงิน และหน่วยงานประกันเงินฝาก เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19

ทั้งนี้ จากการสัมมนาดังกล่าวพบว่ามีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาคการเงินโลก วิวัฒนาการด้านการกำกับดูแลทางการเงินและการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน และพัฒนาการของการดำเนินงานของหน่วยงานประกันเงินฝากในต่างประเทศ สรุปได้ดังต่อไปนี้

การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินโลก (Global Financial Sector Landscape Transformation)

การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินโลกสะท้อนให้เห็นจากการที่ผู้ให้บริการทางการเงินที่นอกเหนือจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เล่นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี (Big Tech) ที่เริ่มมีบทบาทในการให้บริการทางการเงินมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบันซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน และส่งผลให้การบริการทางการเงินครอบคลุมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทว่าในอีกด้านหนึ่งการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะการขยายตัวของกลุ่ม Big Tech ก็เป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจาก ปัจจุบันกลุ่ม Big Tech ได้เข้าไปมีส่วนในการให้บริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเงินในลักษณะที่สถาบันการเงินต้องพึ่งพาการให้บริการด้านเทคโนโลยีจากผู้ให้บริการภายนอก (third party) มากขึ้น จึงถือเป็นความท้าทายในเชิงนโยบายว่าจะมีการติดตามกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไร เพราะการกำกับดูแลอาจมิใช่การมุ่งเน้นเฉพาะการกำกับดูแลตามประเภทของผู้ให้บริการทางการเงิน (Entity-based) แต่ต้องเป็นการผสมผสานไปกับการกำกับที่อิงตามประเภทธุรกิจ (Activity-based) ด้วย และต้องเน้นการกำกับดูแลในลักษณะมองไปข้างหน้า (forward-looking) รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการติดตามและกำกับดูแลเป็นสำคัญ

วิวัฒนาการด้านการกำกับดูแลทางการเงิน

นวัตกรรมทางการเงินนอกจากจะพลิกโฉมรูปแบบการให้บริการทางการเงินให้เป็นแบบดิจิทัล ก่อให้เกิดสังคมไร้เงินสด (cashless society) ทั้งยังสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบใหม่ เช่น เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ส่งผลให้การดำเนินธุรกรรมทางการเงินมีความสะดวก รวดเร็ว และมีความหลากหลายยิ่งขึ้น Fintech ยังนำไปสู่การปรับรูปแบบของผู้ให้บริการทางการเงินจากสถาบันการเงินดั้งเดิมซึ่งจำเป็นต้องมีการเปิดดำเนินกิจการสาขาทางกายภาพในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค ไปสู่การเป็นสถาบันการเงินไร้สาขา (Internet-only Banks) โดยพึ่งพาเทคโนโลยีในการให้บริการแบบดิจิทัล ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก พัฒนาการดังกล่าวถือเป็นความท้าทายใหม่ ๆ สำหรับการวางกรอบการกำกับดูแลเพื่อป้องกันและบริหารจัดการกับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางการเงินในยุคดิจิทัล

1) การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อสนับสนุนกระบวนการกำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงินไร้สาขาในสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

จากการพัฒนาของ Fintech ส่งผลให้ผู้ให้บริการปรับรูปแบบการให้บริการเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในภาคการเงิน กรณีตัวอย่างในสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พบว่าผู้ให้บริการในปัจจุบัน คือ สถาบันการเงิน ได้พัฒนารูปแบบการให้บริการไปสู่ “สถาบันการเงินไร้สาขา (Internet-only Banks) จึงไม่มีข้อจำกัดในด้านการเข้าถึงของผู้ใช้บริการ และสามารถให้บริการได้เสมือนสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม ขณะที่ในด้านการกำกับดูแลนั้น สถาบันการเงินไร้สาขาต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม (traditional banks) ทุกประการ แต่เพิ่มความเข้มข้นในส่วนของมาตรการความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Cyber Security Measures) โดยเฉพาะการกำกับดูแลให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ (Real Time Monitoring) การติดตามเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ทันต่อพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลง และมีระบบงานที่มีประสิทธิภาพเข้ามาช่วยเสริม เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าสถาบันการเงินจะสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ไม่หยุดชะงักและมีความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็วก่อนเกิดวิกฤต

2) แนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ของสหรัฐอเมริกา

สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือ Crypto Assets ถือเป็นสินทรัพย์ประเภทใหม่ที่กรอบการกำกับดูแลยังไม่ชัดเจนมากนัก กรณีศึกษาจากสหรัฐอเมริกาได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการมีกรอบการกำกับดูแล Crypto Assets เป็นการเฉพาะเพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินจากแนวโน้มการลงทุนใน Crypto Assets ที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นในมิติของการลงทุนของสถาบันการเงิน และการลงทุนของนักลงทุนรายย่อย

สถาบันประกันเงินฝากสหรัฐอเมริกา (FDIC) จึงได้เน้นถึงความสำคัญของการกำกับดูแล Crypto Assets เพื่อป้องกันและบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีต่อระบบการเงิน ทั้งนี้ ความเสี่ยงหลัก ประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่

(1) ความปลอดภัยและมั่นคง (Safety and Soundness) : การดำเนินธุรกรรมเกี่ยวกับ Crypto Assets นั้น นอกจากจะส่งผลต่อความเสี่ยงประเภทความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) ความเสี่ยงด้านตลาด (market risk) ความเสี่ยงด้านราคา (price risk) ตลอดจนความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (operational risk) ยังส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เนื่องจาก Crypto Assets นั้น 
ถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย เช่น การถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน

(2) เสถียรภาพของระบบการเงิน : การเชื่อมโยงกันของการดำเนินธุรกรรมเกี่ยวกับ Crypto Assets ต่าง ๆ หรือโครงสร้างของ Crypto Assets อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน (systemic risks) ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงิน

(3) การคุ้มครองผู้บริโภค : ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการทางการเงินอาจได้รับความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกรรมหรือลงทุนเกี่ยวกับ Crypto Assets เนื่องจากยังไม่มีแนวทางการคุ้มครองที่ชัดเจน

ด้วยเหตุนี้ FDIC จึงได้กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลสถาบันการเงินสมาชิกที่มีความประสงค8ที่จะลงทุนใน Crypto Assets โดยสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ FDIC ที่มีความประสงค์จะลงทุนในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องแจ้ง FDIC ล่วงหน้า และนำส่งข้อมูลให้แก่ FDIC เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อการกำหนดขอบเขตที่สถาบันการเงินสมาชิกจะสามารถดำเนินธุรกรรมเกี่ยวกับ Crypto Assets ได้อย่างมั่นคง และปลอดภัย ไม่กระทบต่อฐานะการดำเนินงานและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค

3) พัฒนาการทางด้านกฎหมายและกรอบการกำกับดูแล Crypto Assets และเงินดิจิทัล (Digital Money) ของญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่น ได้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคโดยกำหนดให้ผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Crypto Assets และการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสมถูกกำกับภายใต้ Payment Services Act กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ลูกค้า มีวิธีการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่น่าเชื่อถือ และแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าแยกต่างหากจากส่วนของผู้ให้บริการ รวมถึงการกำกับดูแลผู้รับฝากสินทรัพย์ (Custodian) และยังมี Financial Instruments and Exchange Act ซึ่งเน้นการป้องกันการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรมในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล กำกับดูแลการขายสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีสาระสำคัญที่ครอบคลุมการออก Token ให้แก่นักลงทุนด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของกฎหมายและกรอบการกำกับดูแลเงินดิจิทัลในญี่ปุ่น ได้มีการพิจารณาให้ Stablecoins เป็นเงินดิจิทัลแบบหนึ่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎหมายในส่วนของผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง (Intermediaries) ในธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ใช้งาน ผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง และผู้ออก (Issuers) ผลิตภัณฑ์ Stablecoins อนึ่ง สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) ขณะนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาใช้งานจริง (Proof of Concept)


โดย: ฝ่ายวางแผนและวิจัย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

ปรับปรุงล่าสุด 2 เม.ย. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม