ประเด็นอุบัติใหม่ (Emerging Issues) ที่คาดว่าจะส่งผลต่อการดำเนินการของหน่วยงานประกัน เงินฝากอย่างมีนัยสำคัญในมุมมองของสมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศ (International Association of Deposit Insurers :IADI)

ระบบการเงินโลกมีการวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานประกันเงินฝากในทุกประเทศที่จะต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากวิวัฒนาการดังกล่าว ทั้งนี้ สมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศ หรือ IADI ในฐานะหน่วยงานสากลที่จัดทำหลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผล (IADI Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems) และมุ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผลและสอดคล้องกับทิศทางการเงินโลก อันจะเป็นการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมที่สัมพันธ์กับการพัฒนาระบบประกันเงินฝากเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ IADI จึงได้มีการระบุประเด็นอุบัติใหม่ทั้งหมด 5 ประเด็นที่หน่วยงานประกันเงินฝากควรให้ความสำคัญและพิจารณานำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทการกำหนดนโยบายและการเตรียมการรองรับผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สรุปสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้

1) ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (operational risk) โดยกระทบต่อความต่อเนื่องของการดำเนินกิจการ (business continuity) ของหน่วยงานประกันเงินฝาก ตัวอย่างเช่น ในสภาพอากาศที่เลวร้าย หน่วยงานประกันเงินฝากอาจประสบปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน หรือการไม่สามารถใช้งานโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้จากสถานการณ์ภัยธรรมชาติหรือการขาดแคลนพลังงาน ไฟฟ้าไม่พอใช้ ด้วยเหตุนี้ จึงอาจต้องเตรียมการรองรับความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่เกิดจากสภาพอากาศวิกฤตโดยตรง ด้วยการจัดทำแผนการดำเนินการเพื่อรองรับวิกฤตการเงินอย่างเป็นระบบ (contingency plan) และกรอบการบริหารจัดการวิกฤต (crisis management framework) ต่าง ๆ ให้ครอบคลุมความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

สำหรับผลกระทบทางอ้อมของปัญหา Climate Change ที่มีต่อหน่วยงานประกันเงินฝากมีหลากหลายประเด็น อาทิ หน่วยงานประกันเงินฝากอาจจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันเงินฝาก และขนาดของเงินกองทุนให้สอดคล้องกันกับความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ (default risk) ของสถาบันการเงินที่อาจเปลี่ยนแปลงไป จากผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั้น อาจมีผลต่อความยั่งยืนของสินทรัพย์ดังนั้น หน่วยงานประกันเงินฝากที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการสินทรัพย์จึงควรต้องคำนึงถึงประเด็นดังกล่าวในการดำเนินพันธกิจ เป็นต้น

2) ประเด็นด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech)

การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการให้บริการทางการเงิน แม้จะเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการ เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ และส่งเสริมการแข่งขันในภาคการเงิน ขณะเดียวกัน Fintech ก็ก่อให้เกิดความกังวลในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงิน ประเด็นด้านการแข่งขันที่อาจถูกบิดเบือนหรือไม่เป็นธรรม (competitive distortion) เนื่องจากมีการหาประโยชน์จากความแตกต่างในการกำกับดูแล (Regulatory Arbitrage) และจากการพัฒนาของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (platform economy)[1] ประเด็นดังกล่าวถือเป็นความท้าทายใหม่ ๆ สำหรับหน่วยงานประกันเงินฝากและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน รวมถึงกระตุ้นให้เกิดข้อถกเถียงในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มระดับการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ซึ่งอาจมีบางเป้าประสงค์ที่ขัดแย้งกับนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

พัฒนาการของ Fintech อาจส่งผลต่อการดำเนินงานของหน่วยงานประกันเงินฝากในหลากหลายประเด็น ได้แก่

 

·    Data Analytic

ปัจจุบันจึงได้มีการหารือเชิงนโยบายถึงขอบเขตที่หน่วยงานประกันเงินฝากจะสามารถดำเนินการเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยมีแนวทางการคุ้มครองที่หลากหลาย อาทิ การคุ้มครองผลิตภัณฑ์โดยนิยามให้ e-money เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง (Direct Approach) การคุ้มครองเงินรับล่วงหน้าที่ผู้ให้บริการ e-money นํามาฝาก ใน custodian account หรือ trust account ที่เปิดบัญชีกับสถาบันการเงินสมาชิกของหน่วยงานประกันเงินฝาก (Pass-through Approach) หรือ การกำหนดให้ e-money ไม่ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบประกันเงินฝาก (Exclusion Approach) เป็นต้น ทั้งนี้ การขยายขอบเขตคุ้มครอง e-money นั้น มีความท้าทายต่อหน่วยงานประกันเงินฝากในหลายมิติ เช่น ความท้าทายเกี่ยวกับแนวทางการจ่ายคืนให้แก่ผู้ใช้บริการ e-money ได้อย่างทันท่วงที ความเสี่ยงที่เกิดจากการดำเนินกิจการของผู้ให้บริการ e-money ที่มีความแตกต่างจากสถาบันการเงิน และ ช่องโหว่ทางกรอบกฎหมาย

·    การจ่ายคืนผู้ฝาก

พัฒนาการของ Fintech อาจลดระยะเวลาของกระบวนการจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝาก โดยหน่วยงานประกันเงินฝากอาจนำเทคโนโลยี Fintech เช่น บล็อกเชน (blockchain) มาใช้ในการจัดทำรายงานข้อมูลรายผู้ฝาก (Single Customer View: SCV) เพื่อให้สามารถนำเข้าข้อมูลจากสถาบันการเงินได้อย่างทันท่วงทีและประมวลผลได้รวดเร็วขึ้น ทำให้การจ่ายคืนมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

·    สกุลเงินดิจิทัล

ธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มมีการนำสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currencies (CBDC) มาใช้ หรืออยู่ระหว่างศึกษาการพัฒนา CBDC ดังนั้น หน่วยงานประกันเงินฝากอาจได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้งาน CBDC เช่น เกิดการเคลื่อนย้ายของเงินฝากจากสถาบันการเงินไปยังธนาคารกลางเพื่อฝากเงินในรูปแบบ CBDC เนื่องจากผู้ฝากอาจเห็นว่าการฝากเงินในรูปแบบ CBDC นั้นมีความปลอดภัยกว่า ในส่วนของภาคเอกชน ปัจจุบัน สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency เช่น บิทคอยน์ถูกนำมาใช้เพื่อการลงทุนแบบเก็งกำไรในราคาที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี หากคาดการณ์ถึงอัตราเงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้นต่อเนื่อง Cryptocurrency ก็อาจถูกนำมาใช้เพื่อการคงมูลค่าเงิน (store of value) ในรูปแบบดิจิทัล โดยเฉพาะสกุลเงินดิจิทัลประเภท Stablecoin ซึ่งอิงมูลค่ากับสินทรัพย์หรือเงินตราเพื่อให้มูลค่าผันผวนน้อยลง ที่อาจกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่มีความคล้ายคลึงกับเงินฝาก ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมในการดำเนินการของหน่วยงานประกันเงินฝากเกี่ยวกับ Cryptocurrency และ Stablecoin นั้นขึ้นอยู่กับแนวทางการกำกับดูแลของแต่ละประเทศ รวมถึงขึ้นอยู่กับว่า หน่วยงานในภาคการธนาคารที่ถูกกำกับดูแลเป็นผู้ออกสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวหรือไม่

·    Supervisory Technology (SupTech) และ Resolution Technology (ResTech)

การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อสนับสนุนกระบวนการกำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงิน หรือ SupTech อาทิ การติดตามความเสี่ยงแบบตลอดเวลา (real-time risk alert) ที่จะสนับสนุนการออกมาตรการแทรกแซงและมาตรการป้องกันได้ก่อนเกิดเหตุ ช่วยลดโอกาสการต้องเข้าแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน และ/หรือ การเข้าสู่กระบวนการจ่ายคืนผู้ฝาก ได้ นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำหรับการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินคือ ResTech เพื่อรองรับกระบวนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (Resolution Plan) ก็จะมีผลต่อการดำเนินการของหน่วยงานประกันเงินฝากเช่นกัน

·    การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security)

ผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลและการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลที่แพร่หลายมากขึ้นทำให้ภัยคุกคามจากไซเบอร์เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังสำหรับสถาบันการเงิน ดังนั้น หน่วยงานประกันเงินฝาก จึงอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการติดตาม ประเมินมูลค่า และบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยทางการปฏิบัติการ (operational resilience risk) ของสมาชิกภายใต้ระบบ เนื่องจากอาจไม่มีข้อมูล หรือมีข้อมูลไม่เพียงพอ (information asymmetry) และ ขาดความรู้เชิงเทคนิค นอกจากนี้ หน่วยงานประกันเงินฝากเอง ก็อาจตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในการดำเนินพันธกิจด้วย

·    เสถียรภาพทางการเงิน

นวัตกรรมด้าน FinTech อาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินได้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยหนึ่งในผลกระทบสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงิน คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้ Fintech ในการชำระเงินมากขึ้นซึ่งอาจนำไปสู่การไหลออกของแหล่งเงินทุนจากบัญชีเงินฝากไปสู่ผู้ให้บริการชำระเงินที่มิใช่สถาบันการเงิน (non-bank) นอกจากนี้ ผลกระทบจากนโยบายการเปิดเผยและแบ่งปันข้อมูล (Open Banking Policy) เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในภาคการเงิน ก็อาจก่อให้เกิดความผันผวนของเงินฝากและอาจมีโอกาสที่สถาบันการเงินจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดของการให้บริการชำระเงินให้แก่ผู้ให้บริการ Fintech รายใหม่ อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการติดตามเกี่ยวกับผลกระทบที่กล่าวมาข้างต้นทั้งสองประเด็นว่า จะมีผลต่อแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ และจะกระทบต่อการทำกำไรของสถาบันการเงิน ตลอดจนความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางเพื่อดูแลเศรษฐกิจอย่างไร

3) การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19)

ทั่วโลกได้ออกนโยบายเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และด้านเสถียรภาพทางการเงิน อย่างไรก็ดี ยังคงมีการหารือถึงแนวทางที่เหมาะสมในการยกเลิกการบังคับใช้นโยบายดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและภาคการเงินอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระดับต้นทุนความเสียหายที่แท้จริงของผลกระทบที่เกิดจากโรคระบาด COVID-19 ที่มีต่อภาคการเงิน เนื่องจากยังคงมีการตรึงมาตรการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น มาตรการการผ่อนปรนเกณฑ์เกี่ยวกับหนี้ค้างชำระ NPL (forbearance on non-performing loans) เป็นต้น อนึ่ง จากการระบาดของ COVID-19 และการออกมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดส่งผลให้การเติบโตของเงินฝากในประเทศสมาชิก IADI มีความผันผวนเป็นอย่างมาก ซึ่งเกิดจากการประมาณการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันตามมาตรการให้ความช่วยเหลือของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาระดับหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาภาวะทางการเงิน (financial condition) ที่เกิดจากเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นรวมถึงการไต่ระดับของอัตราดอกเบี้ย และการสิ้นสุดของมาตรการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินกิจการของภาคธุรกิจ เพิ่มระดับความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ (default risk) โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies)

ปัญหาภาวะทางการเงินที่ส่งผลกระทบในทุกภาคส่วนรวมถึงภาคสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเป็นอย่างมาก เช่น ภาคการท่องเที่ยว ส่งผลต่อระดับ default risk ของสถาบันการเงินที่สูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการจ่ายคืน และ/หรือ การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (resolution) ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานประกันเงินฝากจึงควรเล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินการเพื่อรองรับวิกฤตการเงินอย่างเป็นระบบ (contingency planning) และการบริหารจัดการวิกฤต (crisis management) รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดความผันผวนของการเติบโตของเงินฝาก

แนวทางการเตรียมการรองรับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ของ IADI

IADI ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญจำเป็นของแนวทางการดำเนินการด้าน contingency planning และ crisis management ซึ่งระบุในหลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผล (IADI Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems) ข้อที่ 6 และการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินการกรณีเกิดสถานการณ์การไหลออกของเงินฝากในภาวะวิกฤต

4) บทบาทหน้าที่ด้านการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (Resolution) ของหน่วยงานประกันเงินฝาก

หน่วยงานประกันเงินฝากมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่หลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับขอบเขตอำนาจหน้าที่ (mandate) กรอบกฎหมาย และกรอบการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ หน่วยงานประกันเงินฝากอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเข้าแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหา หรือคาดว่าจะประสบปัญหาการดำเนินกิจการ โดยทำหน้าที่ออกแบบและพิจารณาแผนกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินทุกแห่งหรือเฉพาะบางแห่ง และ/หรือ จัดหาแหล่งเงินทุนในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน ในบางประเทศอาจอนุญาตให้หน่วยงานอื่นใช้เงินกองทุนของหน่วยงานประกันเงินฝากเป็นเครื่องมือเพื่อหลีกเลี่ยงการปิดกิจการสถาบันการเงินโดยอาจดำเนินวิธีการขายหรือควบรวมกิจการ หรือวิธีการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ เพื่อลดภาระต้นทุนในการแก้ไขปัญสถาบันการเงิน หรือ เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ

ในขณะเดียวกัน การนำเงินกองทุนประกันเงินฝากไปใช้ในวัตถุประสงค์ที่นอกเหนือจากการจ่ายคืนมักจะถูกจำกัดอยู่ภายใต้แนวป้องกัน (safeguard) ในการกำหนดวงเงินที่สามารถนำเงินกองทุนไปใช้ได้ โดยทั่วไปการกำหนดวงเงินมักเป็นไปตามหลักการต้นทุนที่น้อยที่สุด (Least Cost Principle) ซึ่งจะเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ก่อให้เกิดต้นทุนที่น้อยที่สุดสำหรับหน่วยงานประกันเงินฝากหรือหน่วยงานแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เมื่อเปรียบเทียบจากวิธีการที่มีอยู่ทั้งหมด หรืออาจพิจารณากำหนดวงเงินการใช้เงินกองทุนประกันเงินฝากโดยวิธีอื่น เช่น การคำนวณต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากมีการจ่ายคืนผู้ฝากและมีการชำระบัญชีสถาบันการเงิน นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุนสำหรับการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินเป็นการเฉพาะ (Resolution Fund) ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันไม่ให้กองทุนประกันเงินฝากถูกนำไปใช้เพื่อรับภาระต้นทุนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินเกินความจำเป็น

ในประเทศที่หน่วยงานประกันเงินฝากมีขอบเขตของอำนาจหน้าที่มากกว่าการจ่ายคืนผู้ฝาก หรืออยู่ระหว่างการขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินนั้น จะมีความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินการตามแนวปฏิบัติ (best practice) และการปรับปรุงแนวปฏิบัติให้เป็นปัจจุบัน โดยต้องคำนึงถึงการพิจารณาเครื่องมือแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน อีกทั้ง การที่เครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินมีความหลากหลายมากขึ้นก็กระทบต่อหน่วยงานประกันเงินฝากในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

·    การมีแนวทางการประสานงานระหว่างหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน (Financial Safety Net: FSN) และการมีแนวทางการตัดสินใจที่มีประสิทธิผล

·    การมีแหล่งเงินทุนสำหรับการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (เช่น ความเพียงพอและแนวทางการใช้เงินกองทุนประกันเงินฝาก การประเมินระดับความเสี่ยงและมูลค่าของความเสี่ยง)

·    การสร้างระดับการรับรู้ของประชาชนกรณีการขยายขอบเขตการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ หน่วยงานประกันเงินฝากที่จะขยายบทบาทให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินอาจต้องคำนึงถึงประเด็นระหว่างพรมแดน (cross border issue) กับประเทศเพื่อนบ้าน หรือกับประเทศที่มีความเชื่อมโยงของระบบสถาบันการเงินและระบบประกันเงินฝากระหว่างกัน ในกรณีที่ประเทศดังกล่าวมีหลักเกณฑ์การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่แตกต่างกันกับหลักเกณฑ์ของหน่วยงานประกันเงินฝาก

5) ประเด็นระหว่างพรมแดน (Cross Border Issue)

การดำเนินกิจกรรมทางการเงินระหว่างพรมแดนสร้างความท้าทายต่อการจ่ายคืนผู้ฝากและการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน ตามหลักการ IADI Core Principle ข้อที่ 5 ว่าด้วยประเด็นระหว่างพรมแดน ระบุให้ กรณีที่มีสถาบันการเงินต่างประเทศเข้ามาเปิดดำเนินกิจการในประเทศไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของสาขา หรือบริษัทลูก หน่วยงานประกันเงินฝากของทั้งสองประเทศควรจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันหรือประสานความร่วมมือระหว่างกัน เนื่องจากการดำเนินการของหน่วยงานกำกับดูแล หรือ หน่วยงานแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในประเทศแม่หรือประเทศลูก อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ดี แม้ในปัจจุบันพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางการเงินระหว่างพรมแดนอย่างต่อเนื่องแต่จากข้อมูลของ IADI พบว่ามีหน่วยงานประกันเงินฝากเพียงบางแห่งที่มีการกำหนดแนวทางดำเนินการระหว่างพรมแดน โดย IADI เห็นว่าอาจเนื่องมาจากหน่วยงานประกันเงินฝากส่วนใหญ่ไม่คุ้มครองผู้ฝากที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ ยกเว้นกรณีหน่วยงานประกันเงินฝากในประเทศสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ประเด็นที่มีผลต่อการให้ความคุ้มครองเงินฝากระหว่างพรมแดน ได้แก่ ข้อจำกัดด้านความสามารถของหน่วยงานประกันเงินฝากในการจ่ายคืนผู้ฝากระหว่างพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ ช่องโหว่ด้านความร่วมมือ ความกังวลด้านความพร้อมของข้อมูล (data availability) และผลกระทบเกี่ยวกับความสอดคล้องกับหลักการ IADI Core Principle ข้อที่ 5

นอกเหนือจากพันธกิจทางด้านการจ่ายคืนผู้ฝากและการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต สถาบันคุ้มครองเงินฝากยังมีบทบาทในการเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินไทย จากประเด็น Emerging Issues ที่ IADI ได้เสนอแนะว่ามีความสำคัญกับประสิทธิภาพของระบบประกันเงินฝากทั้ง 5 ประเด็นข้างต้นนั้น สถาบันได้คำนึงถึงความท้าทายและโอกาสจากผลกระทบของประเด็นดังกล่าว โดยจะนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์และกรอบการดำเนินงานของสถาบัน เพื่อให้ทัดเทียมนานาประเทศ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ฝาก ประชาชน และสถาบันการเงิน และพร้อมรับมือกับความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบ สร้างความเชื่อมั่นแก่ระบบคุ้มครองเงินฝาก และระบบสถาบันการเงิน อันจะนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้


[1] เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (platform economy) หมายถึง การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ โดยแพลตฟอร์มส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้ใช้งานกลุ่มต่าง ๆ อาทิ ผู้บริโภค ผู้ค้าปลีก และ ผู้โฆษณา เป็นต้น

โดย: ฝ่ายวิเคราะห์สถาบันการเงิน สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

ปรับปรุงล่าสุด 29 มี.ค. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม