การเตรียมการรองรับการเปิดให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)

 

ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) คืออะไร

ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีสาขาซึ่งให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก และนำเทคโนโลยีรวมถึงข้อมูลที่หลากหลาย (ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทางเลือกอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมการใช้จ่าย) มาใช้ประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพื่อนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่หรือเพิ่มประสิทธิภาพบริการทางการเงินที่มีอยู่เดิมให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น

ในต่างประเทศมีการให้บริการ Virtual Bank เป็นที่แพร่หลายแล้วในระยะหนึ่ง ซึ่งอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ อาทิ สิงคโปร์และมาเลเซีย เรียก Digital Bank เกาหลีใต้และไต้หวัน เรียก Internet-only Bank สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย เรียก Neobank และฮ่องกง เรียก Virtual Bank โดย Virtual Bank แห่งแรกของโลกเกิดในสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1995 ซึ่งมีชื่อว่า “Security First Network” ทั้งนี้ การจัดตั้ง Virtual Bank ในต่างประเทศล้วนมีที่มาที่ไปแตกต่างกันและมีการดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์และเงื่อนไขการออกใบอนุญาตของทางการในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง Virtual bank แต่ละแห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้ขอบข่ายของ 4 วัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. การส่งเสริมบริการทางการเงินที่สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง (Financial Inclusion)

2. การสร้างนวัตกรรมทางการเงิน (Financial Innovation)

3. การสร้างประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (New Customer Experience)

4. การยกระดับการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน (Competitiveness Enhancement)

 

 

Virtual Bank ในต่างประเทศส่วนใหญ่มีพัฒนาการมาจากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งบริษัทลูกแยกออกจากธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม การจัดตั้งบริษัทลูกของ Non-bank การร่วมทุนระหว่างธุรกิจต่าง ๆ  อาทิ การร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมกับ Non-bank หรือการร่วมทุนระหว่าง Non-bank ด้วยกันเอง เป็นต้น โดยการให้บริการของ Virtual Bank จะใช้เทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนารูปแบบการให้บริการ ไม่เพียงแต่เฉพาะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลหรือการลดความเสี่ยง แต่จะช่วยในการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตัวอย่างขอบเขตการให้บริการของ Virtual Bank ในภูมิภาคเอเชีย สรุปดังตารางที่ 1

 

 

 

Virtual Bank ในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยตามแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (แนวนโยบาย Financial Landscape) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้วางทิศทางด้านดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นการรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการและการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยหนึ่งในแนวนโยบายสำคัญ คือ การเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ ได้แก่ Virtual Bank เพื่อให้ผู้ที่มีความสามารถทางเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เข้ามาพัฒนานวัตกรรมและนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่พร้อมใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนและเพิ่มเติมโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่มผู้ใช้บริการรายย่อยและกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม (Underserved) หรือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) รวมถึงสร้างประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดีขึ้น ตลอดจนช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไทยอย่างเหมาะสม

ตารางที่ 2 สรุปเป้าหมายของ Virtual Bank ที่ ธปท. อยากเห็นและไม่อยากเห็น

Virtual Bank ที่ได้รับอนุญาตจะมีสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในไทย มีขอบเขตการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างออกไปโดยให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ดังนั้น นอกจาก Virtual Bank จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินแล้ว Virtual Bank จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ เช่น การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (การใช้ชื่อ เครื่องหมาย และสัญลักษณ์) การกำกับดูแลช่องทางให้บริการและการใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอก การกำกับดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่รองรับการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล เป็นต้น เพื่อให้การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ

เพื่อให้ได้ Virtual Bank ที่สร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยได้อย่างยั่งยืน ธปท. จะพิจารณาคำขออนุญาต โดยให้ความสำคัญกับคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ขออนุญาตในการประกอบธุรกิจ Virtual Bank ตามรูปแบบและแผนที่เสนอมา ในแต่ละด้านดังนี้

 

สำหรับ Timeline ที่สำคัญเกี่ยวกับ Virtual Bank ธปท. ได้เปิดระบบรับคำขออนุญาตเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ถึง 19 กันยายน 2567 โดยหลังปิดรับคำขออนุญาต ธปท. และ กระทรวงการคลังจะใช้เวลาพิจารณาคำขออนุญาตรวมกัน 9 เดือน[1] โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ในช่วงกลางปี 2568 ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank จะมีเวลาเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ และต้องเปิดดำเนินการภายใน 1 ปี[2] นับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ

 

[1] หากมีเหตุอันควร อาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 3 เดือน

[2] หากมีเหตุอันควร อาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 1 ปี


ปรับปรุงล่าสุด 6 ธ.ค. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม