อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของธนาคารดูอย่างไร

จาก 2 บทความก่อนหน้า ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของงบดุลและงบกำไรขาดทุนของธนาคารว่ามีความแตกต่างจากงบการเงินของกิจการทั่วไป ในบทความนี้จะนำเสนออัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของธนาคาร ซึ่งจำเป็นต่อการประเมินความเข้มแข็งและความมั่นคงของกิจการ ซึ่งประกอบด้วยอัตราส่วนทางการเงินจำแนกตามมิติต่าง ๆ ได้แก่

  1. ความสามารถในการทำกำไร
    1. Net Interest Margin (NIM) เป็นเครื่องบ่งชี้กำไรของธนาคาร สะท้อนให้เห็นว่าบนพื้นฐานของสินทรัพย์ที่ธนาคารมีอยู่สามารถสร้างส่วนต่างของดอกเบี้ยได้เท่าไร โดยพิจารณาจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับ(ธนาคารมีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อ) และดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมด (ต้นทุนรายจ่ายจากการรับเงินฝาก) ครอบคลุมทั้งสินเชื่อและเงินฝากเงินให้กู้และเงินกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน รวมถึงเงินลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้
    2. Cost to Income Ratio คือ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารค่าใช้จ่ายว่าธนาคารสามารถคุมต้นทุนได้ดีหรือไม่ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของธนาคาร อาทิเงินเดือนพนักงาน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์เป็นต้น หากเป็นธุรกิจทั่วไปก็จะดูจาก Operating Expense Ratio หรืออัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้
  2. คุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุน
    1. BIS Ratio คือ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง เป็นอัตราส่วนที่บ่งบอกถึงความมั่นคงของธนาคาร ซึ่งธนาคารจําเป็นต้องมีเงินกองทุนในอัตราส่วนที่เพียงพอรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ว่าธนาคารสามารถที่จะจ่ายคืนเงินฝากแก่ผู้ฝากเงินและสามารถชําระคืนเงินกู้แก่เจ้าหนี้ได้เต็มจํานวน อีกทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต โดยปัจจุบันเงินกองทุน ที่ธนาคารต้องดำรงอยู่ที่ 11% (อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 กำหนดไว้ที่ 8.5% + Conservation Buffer 2.5%) แต่หากเป็นธนาคารที่มีนัยสำคัญต่อระบบสถาบันการเงินให้ดำรงเงินกองทุนที่ 12%
    2. NPL Ratio คือ อัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม เป็นตัวเลขที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ธนาคารว่าสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยกู้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้มากน้อยเพียงใด หาก NPL Ratio เพิ่มสูงขึ้นแสดงว่าลูกหนี้จำนวนมากของธนาคารผิดนัดชำระหนี้นอกจากนี้ตัวเลข NPL Ratio ยังสะท้อนสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจ หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ให้กับธนาคารได้พร้อมกันเป็นจำนวนมาก อาจสะท้อนได้ว่าเศรษฐกิจอาจมีปัญหา จึงทำให้ลูกหนี้ไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้

  1. สภาพคล่อง
    1. LCR (Liquidity Coverage Ratio) คือ อัตราส่วนของปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งสิ้น (Total HQLA) ต่อประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิใน 30 วัน (Total Net Cash Outflows) สำหรับใช้บ่งชี้ว่าธนาคารมีสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอรองรับเงินไหลออกในภาวะวิกฤตได้ยาวนานถึง 30 วันหรือไม่โดยอัตราส่วน LCR ควรมีค่าไม่ต่ำกว่า 100%
    2. Loan to Deposit Ratio (L/D Ratio) คือ ปริมาณสินเชื่อต่อยอดเงินฝาก หากอัตราส่วนนี้อยู่ในระดับสูง จะแสดงให้เห็นว่าธนาคารมีการปล่อยเงินให้สินเชื่อมากเมื่อเทียบกับเงินฝาก โดยหากอัตราส่วนนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่า 100% ธนาคารอาจเกิดภาวะสภาพคล่องตึงตัว จนไม่สามารถรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อาทิ การแห่ถอนเงินฝาก เป็นต้น

นอกจากอัตราส่วนทางการเงินที่เป็นตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีอัตราส่วนอื่น ๆ ที่ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากงบการเงินที่เผยแพร่ตามเว็บไซต์ของธนาคาร การบริหารความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้กระบวนการบริหารมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรได้อย่างแท้จริง

 


โดย: ฝ่ายวิเคราะห์สถาบันการเงิน

ปรับปรุงล่าสุด 28 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม