งบการเงินธนาคารพาณิชย์ต่างจากงบการเงินทั่วไปอย่างไร (ตอนที่ 1)
ธนาคารมีลักษณะการประกอบธุรกิจเฉพาะที่ต่างออกไปจากกิจการทั่ว ๆ ไป การพิจารณาผลการดำเนินงานของธนาคารว่าดีหรือไม่ เบื้องต้นสามารถดูได้จากงบการเงิน ซึ่งโครงสร้างงบการเงินของธนาคารโดยเฉพาะงบดุลและงบกำไรขาดทุน จะมีจุดที่แตกต่างจากงบการเงินของกิจการทั่วไป โดยในบทความฉบับนี้จะระบุความแตกต่างในส่วนของงบดุลพอสังเขป
งบดุล เป็นงบแสดงฐานะการเงินของกิจการ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีรายการในงบดุลจะแสดงความสัมพันธ์ของสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของเจ้าของ โดยมีสมการบัญชีคือ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ อย่างไรก็ดี สินทรัพย์และหนี้สินของธนาคาร มีรายการที่แตกต่างไปจากกิจการทั่วไปที่น่าสังเกตดังนี้
ภาพที่ 1 : ตัวอย่างงบการเงินกิจการ
ภาพที่ 2 : ตัวอย่างงบดุลของธนาคาร
- รายการฝั่งสินทรัพย์
- เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ เป็นรายการสินทรัพย์ที่สำคัญ ที่ช่วยบ่งชี้ว่าธุรกิจธนาคารในปีนั้น ๆ เติบโตหรือไม่ เนื่องจากเงินให้สินเชื่อเป็นสินทรัพย์หลักของธนาคารที่จะก่อให้เกิดรายได้ โดยทั่วไปมีขนาดประมาณ 70-80% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมดของธนาคาร คำนวณจากเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ หักรายได้รอตัดบัญชี ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และค่าเผื่อการปรับมูลค่าจากการปรับโครงสร้างหนี้
- รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน อาทิ เงินฝาก เงินให้สินเชื่อ เงินให้สินเชื่อระหว่างธนาคาร หรือสถาบันการเงินประเภทอื่นเป็นคู่สัญญาโดยตรงหรือเงินให้สินเชื่อที่สถาบันการเงินเป็นผู้รับรองอาวัล หรือรับความเสี่ยงแทนคู่สัญญา
- รายการฝั่งหนี้สิน
- เงินฝาก เป็นแหล่งการระดมทุนที่สำคัญช่องทางหนึ่งของธนาคาร เป็นเงินที่ธนาคารรับฝากจากประชาชน ไม่รวมเงินรับฝากระหว่างธนาคารและตลาดเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะแสดงไว้ในรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ
- รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน อาทิ เงินรับฝาก เงินกู้ยืมระหว่างธนาคารหรือสถาบันการเงินประเภทอื่น ทั้งที่มีอนุพันธ์แฝงหรือไม่มีอนุพันธ์แฝง ดังนั้น เวลาศึกษางบดุลของธนาคารจะมีจุดหลัก ๆ ที่ควรพิจารณา อาทิ
- การเติบโตของสินเชื่อ เนื่องจากเป็นแหล่งที่มาสำคัญของรายได้ธนาคาร
- ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (ซึ่งเป็นรายการหักจากเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้) เพื่อดูแนวโน้มของหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้น
- ปริมาณเงินฝาก เนื่องจากเป็นแหล่งค่าใช้จ่ายของธนาคาร (จากการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฝาก)
จะเห็นว่ารายการจะมีความแตกต่างทั้งฝั่งของสินทรัพย์ และหนี้สินในงบดุล สำหรับตอนต่อไปจะเป็นเรื่องงบกำไรขาดทุนว่าต่างจากงบการเงินทั่วไปอย่างไร
โดย: ฝ่ายวิเคราะห์สถาบันการเงิน
ปรับปรุงล่าสุด
28 ก.พ. 2567
สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
Infographics
วิดีโอ
ข่าวประชาสัมพันธ์