งบการเงินธนาคารพาณิชย์ต่างจากงบการเงินทั่วไปอย่างไร (ตอนที่ 2)
จากบทความที่แล้วซึ่งได้จำแนกความแตกต่างระหว่างโครงสร้างงบดุลของธนาคารกับกิจการทั่วไป โดยสามารถสังเกตได้จากรายการฝั่งสินทรัพย์และหนี้สิน อาทิเงินให้สินเชื่อ เงินรับฝาก รวมทั้งรายการระหว่างธนาคาร และตลาดเงิน ซึ่งเป็นรายการที่ธนาคารมีแต่กิจการทั่วไปไม่มี สำหรับบทความฉบับนี้จะเจาะลึกไปที่งบกำไรขาดทุน ซึ่งเป็นงบการเงินประเภทหนึ่งที่สะท้อนถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจว่ามีความสามารถในการทำกำไรมากน้อยเพียงใด โดยมีสมการทางบัญชีอย่างง่าย คือ
รายได้ - ค่าใช้จ่าย = กำไร (ขาดทุน) สุทธิ
เช่นเดียวกันกับงบดุล งบกำไรขาดทุนของธนาคารกับ กิจการทั่วไปก็มีความแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดในงบ กำไรขาดทุนที่สำคัญดังนี้
ภาพที่ 1 : ตัวอย่างงบกำไรขาดทุนของธนาคารและกิจการทั่วไป
- รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ มีสัดส่วนประมาณ 60-80% ของรายได้ธนาคาร เป็นรายการที่สะท้อนถึงความสามารถในการหารายได้หลักของธนาคาร จากส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินให้สินเชื่อ กับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินรับฝาก หากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นบวก นั่นหมายความว่าธนาคารมีความสามารถที่จะปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่สูง และสามารถหาแหล่งเงินทุน อาทิ การรับฝากเงิน ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
- รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ มีสัดส่วนประมาณ 10-30% ของรายได้ธนาคาร เป็นค่าธรรมเนียมและบริการประเภทต่าง ๆ ที่ธนาคารเรียกเก็บจากการให้บริการแก่ลูกค้า อาทิ ค่าธรรมเนียมสินเชื่อ ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมเงินฝากหรือบริการอิเล็กทรอนิกส์ ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต รายได้ค่านายหน้ารับจากบริษัทประกัน ค่าธรรมเนียมการรับอาวัลตั๋ว และอื่น ๆ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาธนาคารเริ่มให้ความสำคัญกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิมากขึ้น เนื่องจากมีความผันผวนน้อยกว่าการพึ่งพิงรายได้จากอัตราดอกเบี้ย
- รายได้อื่น อาทิ กำไร (ขาดทุน) จากการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ จากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ เงินลงทุนในลูกหนี้ การขายทรัพย์สินรอการขาย เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์
- ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เป็นรายการกันเงินสำรองของธนาคารเพื่อรองรับผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์และภาระผูกพัน เช่น เงินให้สินเชื่อ ซึ่งเป็นความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (Expected Loss: EL) จากการที่ลูกหนี้อาจไม่สามารถชำระคืนได้ เพื่อให้เงินสำรองของธนาคารสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตตลอดอายุของลูกหนี้ อย่างไรก็ดี ตัวเลขรายการนี้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามแนวโน้มความเสี่ยงของสินเชื่อหรือแนวโน้มที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือผลจากสภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อสินเชื่อ
เมื่อทุกท่านทราบถึงลักษณะโครงสร้างงบดุลและงบกำไรขาดทุนที่สำคัญของธนาคาร ดังที่อธิบายในบทความตอนที่ 1 และตอนที่ 2 แล้ว สำหรับในบทความต่อไป จะขอนำทุกท่านไปเรียนรู้อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของธนาคาร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาผลการดำเนินงาน รวมทั้งความมั่นคงและเข้มแข็งของธนาคารเบื้องต้น
โดย: ฝ่ายวิเคราะห์สถาบันการเงิน
ปรับปรุงล่าสุด
28 ก.พ. 2567
สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
Infographics
วิดีโอ
ข่าวประชาสัมพันธ์