หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากกับการบริหารจัดการวิกฤต

หากพิจารณาถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการพัฒนาของอุตสาหกรรมทางการเงินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ก็พบว่ามีแนวโน้มที่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบสถาบันการเงินอาจมีความซับซ้อน ลุกลามรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการคุ้มครองผู้ฝาก และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสถาบันการเงิน ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการมีกรอบการดำเนินการเพื่อรองรับวิกฤตการเงินอย่างเป็นระบบ (Contingency Planning) และ การจัดการภาวะวิกฤต (Crisis Management)

wOLOkW4KogphAAAAABJRU5ErkJggg==

หน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงินมีการดำเนินการด้าน Contingency Planning ที่แตกต่างกัน ในส่วนของหน่วยงานประกันเงินฝากมีหน้าที่จัดทำ Contingency Plan ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินในระบบสถาบันการเงินและทดสอบแผนงานดังกล่าวในภาวะวิกฤตตามสมมติฐานและสถานการณ์จำลอง (Scenarios) ต่าง ๆ โดยทั่วไป Contingency Plan หลัก ๆ ที่ หน่วยงานประกันเงินฝาก ส่วนใหญ่ได้จัดทำและมีการเตรียมการ มีดังนี้

  1. แผนการจัดการด้านสภาพคล่อง : มีการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุน (Fund Adequacy Assessment) เป็นประจำ โดยกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนทางการเงินขององค์กร รวมทั้งการประเมินในลักษณะของการกำหนด Scenarios ต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อเงินกองทุน แผนในการระดมทุน ที่มาของแหล่งเงิน หากเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากไม่เพียงพอในการจ่ายคืน
  2. แผนการจ่ายคืน : เตรียมเครื่องมือและกระบวนการในการจ่ายคืนผู้ฝากทั้งในกรณีที่มีผู้ฝากในปริมาณปกติ และกรณีที่มีผู้ฝากจำนวนมากหากเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงเกินภาวะปกติ รวมถึงการเตรียมการด้านข้อมูลสำหรับจ่ายคืน ซึ่งต้องรวมถึงการซักซ้อม ทดสอบความถูกต้องและทดสอบกระบวนการจ่ายคืนผ่านทุกช่องทางการจ่ายคืนอย่างสม่ำเสมอ
  3. แผนการสื่อสาร : มีแผนสื่อสารที่ครอบคลุมเหตุการณ์ในช่วงปกติและช่วงวิกฤต รวมถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงินอื่น ช่องทางในการสื่อสาร Key message ชื่อผู้ติดต่อประสานงาน รวมถึงร่างแถลงข่าวต่าง ๆ และซักซ้อมกระบวนการต่าง ๆ ในแผน

การทดสอบ Contingency Plan ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายได้แก่ การทำ Stress test โดยในหน่วยงานประกันเงินฝากที่มีบทบาท Risk Minimizer จะประเมินความเสี่ยงโดยตรวจสอบงบแสดงฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินเพื่อชี้ช่องโหว่ สำหรับหน่วยงานประกันเงินฝากประเภท Paybox หรือ Paybox-Plus นั้น จะประเมินและระบุความเสี่ยงต่อสถาบันการเงินและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยอ้างอิงจากรายงานการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และข้อมูลที่ใช้ประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดอัตราเงินนำส่งของแต่ละสถาบันการเงิน (กรณีสถาบันประกันเงินฝากนั้นเก็บอัตราเงินนำส่งในอัตราตามความเสี่ยงของสถาบันการเงินสมาชิก) สำหรับเครื่องมือการทดสอบ Contingency Planning อีกประเภทหนึ่ง คือ การทดสอบสถานการณ์จำลอง (Scenario testing) ซึ่งเป็นการทดสอบกระบวนการภายในของหน่วยงานประกันเงินฝากและการประสานงานกับหน่วยงานอื่น นอกจากนี้ หน่วยงานประกันเงินฝากยังนิยมทำการทดสอบกระบวนการ (Simulations) เพื่อเป็นการทดสอบการจ่ายคืนผู้ฝาก การทดสอบความเพียงพอของแหล่งเงินทุนสำรอง กรณีเพิกถอนใบอนุญาตสถาบันการเงิน มากกว่า 1 แห่ง และเป็นการทดสอบประสิทธิผลของการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหา สง. ที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินในประเทศ (Domestic Systemically Important Banks – D-SIBs)

อนึ่ง ในการบริหารจัดการวิกฤตของสถาบันประกันเงินฝากอย่างมีประสิทธิภาพ สถาบันประกันเงินฝากแต่ละแห่งจะมีการเตรียมความพร้อมตามบทบาทหน้าที่ (Mandate) ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี หน่วยงานประกันเงินฝากทุกแห่งจะต้องได้รับสัญญาณเตือนล่วงหน้าอย่างเร็วที่สุด (Early Warning Signal) เมื่อสถาบันการเงินประสบปัญหา เพื่อที่จะเตรียมการให้ทันเวลา นอกจากนี้ จะต้องมีการซักซ้อมกระบวนการดังกล่าว ทั้งระดับภายในองค์กรและระดับความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้ค้นพบช่องโหว่ในแผนและกระบวนการต่าง ๆ และหาแนวทางเพื่อปิดช่องโหว่นั้น ทั้งนี้ แนวทางการทดสอบการบริหารจัดการวิกฤตอาจดำเนินการด้วยวิธี การทดสอบการดำเนินการช่วงวิกฤต (Crisis Simulation Exercise) ซึ่งเป็นการกำหนดสถานการณ์ต่าง ๆ และทดสอบการประสานงานร่วมกัน ขณะที่การทดสอบด้วยวิธี Table Top Exercise จะมุ่งเน้นการซักซ้อมการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงในการกำหนดแนวนโยบายเพื่อรับมือปัญหาที่เกิดขึ้น สำหรับการทดสอบที่นิยมใช้อีกวิธีหนี่งเพื่อซักซ้อมการประสานงานและความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน หากเกิดภาวะผันผวน (shocks) ในภาคการเงิน คือ การทดสอบภาวะวิกฤตที่มีผลกระทบต่อระบบการเงินโดยรวม (Top-down Stress test)

กลไกการจัดทำกรอบการบริหารจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมด้านวิกฤต (Crisis Preparedness Management Framework) มุ่งเน้นการประสานความร่วมมือความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงินเป็นหัวใจหลัก ทั้งนี้ การดำเนินงานของหน่วยงานประกันเงินฝากร่วมกับหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน ในการบริหารจัดการวิกฤต อาจเริ่มจากการมีกลไกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันผ่านบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MOU) ไปจนถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านเสถียรภาพทางการเงิน หรือ Financial Stability Committee (FSC) ภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดย FSC ควรมีบทบาทในการกำหนดกรอบนโยบายด้านการบริหารจัดการวิกฤตซึ่งเชื่อมโยงการดำเนินการของหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงินในภาวะวิกฤต และในบางประเทศ FSC อาจมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมการพิจารณาเลือกแนวทางการทำ Resolution ได้

การดำเนินงานของประเทศไทยด้าน System-Wide Crisis Management สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงปกติและช่วงวิกฤต ซึ่งในช่วงปกติ การติดตามฐานะและความแข็งแกร่งของระบบการเงิน หน่วยงานกำกับดูแลทางด้านสถาบันการเงินซึ่งคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประสานงานระหว่างกันอย่างใกล้ชิด โดยมีคณะกรรมการ 2 คณะ ภายใต้ ธปท. ที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงานกำกับดูแล

ในระดับองค์กร DPA ได้จัดทำ Contingency Plan ที่ครอบคลุมถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินพันธกิจในช่วงก่อนสถาบันการเงินถูกควบคุมจนถึงช่วงที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว ทั้งนี้ Contingency Plan ของ DPA มีหลายประเภท ประกอบด้วย กระบวนการจ่ายคืนผู้ฝาก กระบวนการจัดหาสภาพคล่องเพื่อการจ่ายคืน กระบวนการชำระบัญชีและบริหารจัดการสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน และกระบวนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และกระบวนการอื่น ๆ ด้านการสนับสนุน หรือที่เรียกว่า แผนปฏิบัติงาน หากมีการปิดสถาบันการเงิน

 


โดย: ฝ่ายวางแผนและวิจัย

ปรับปรุงล่าสุด 28 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม