เรื่องที่ผู้ฝากเงินควรรู้

ประชาชนส่วนใหญ่ย่อมมีเงินฝากกับสถาบันการเงินด้วยเหตุผลความจำเป็นหลายประการ เช่น เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการออมทรัพย์หรือเพื่อผลประโยชน์ตอบแทน เป็นต้น อย่างไรก็ดี น้อยนักที่ประชาชนจะมีความเข้าใจว่า การฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินต้องมีความเสี่ยงเป็นธรรมดาเช่นเดียวกับการลงทุนทุกประเภทซึ่งย่อมมีความเสี่ยงมากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ประเภทของการลงทุน ดังนั้น สิ่งที่ผู้ฝากเงินควรทราบ คือ การพิจารณาความมั่นคงของสถาบันการเงิน การมีระบบคุ้มครองเงินฝากในประเทศไทย และหากเกิดกรณีสถาบัน

การเงินต้องปิดกิจการ เราในฐานะผู้ฝากเงินควรจะต้องทำอะไร

ความมั่นคงของสถาบันการเงินดูอย่างไร?

Z

ความเสี่ยงของผู้ฝากเงินอยู่ที่ความมั่นคงของสถาบันการเงินที่เราฝากเงินไว้แม้ว่าสถาบันการเงินจะไม่ได้ล้มกันง่ายๆ เพราะมีกฏหมายควบคุมการทำธุรกิจไว้เฉพาะ และมีธนาคารแห่งประเทศไทย กำกับดูแลอย่างเข้มงวด ซึ่งหากสถาบันการเงินมีปัญหาก็มีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาโดยทางการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนระบุไว้ชัดเจน

สถาบันการเงินดำเนินธุรกิจหลักในการรับเงินฝาก ปล่อยสินเชื่อ และให้บริการทางการเงินย่อมต้องมีเงินกองทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ฐานะเงินกองทุนและความสามารถในการทำกำไรจึงสามารถใช้เป็นปัจจัยพิจารณาความมั่นคงของสถาบันการเงินได้ นอกจากนี้ธุรกิจสถาบันการเงินยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นตัวพิจารณาความมั่นคงของสถาบันการเงินได้ดี ซึ่งได้แก่ คุณภาพสินเชื่อ สภาพคล่อง และอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้สามารถเรียกดูได้จากเว็บไซต์ของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง หรือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th)

  1. ฐานะเงินกองทุน : สถาบันการเงินต้องมีเงินกองทุนไว้ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความมั่นคง โดยกฎหมายกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือที่เรียกว่า BIS ratio ไว้อย่างน้อยร้อยละ 8.5 หมายความว่า ทุก 100 บาท ที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ ต้องมีเงินทุนรองรับไว้อย่างน้อยจำนวน 8.5 บาท
  2. ความสามารถในการทำกำไร : ผู้ฝากเงินสามารถทราบข้อมูลการทำกำไร รวมทั้งสินทรัพย์ หนี้สิน ของสถาบันการเงินได้จากรายงานประจำปี หรือจากเว็บไซต์ของสถาบันการเงินนั้นๆ ทั้งนี้ความสามารถในการทำกำไรพิจารณาได้จากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on asset: ROA) ซึ่งอัตรา ROA สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรของสถาบันการเงิน ตัวอย่างเช่น หาก ROA อยู่ที่ร้อยละ 1.4 หมายความว่า สถาบันการเงินนั้นมีกำไร 1.4 บาทจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ 100 บาท หากผู้ฝากดู ROA ของหลายสถาบันการเงินก็จะเทียบเคียงความสามารถในการทำกำไรของสถาบันการเงินแต่ละแห่งได้
  3. คุณภาพสินเชื่อ : พิจารณาจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งสัดส่วน NPL ที่สูง สะท้อนถึงคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพอันจะส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยของสถาบันการเงินลดลง ตัวอย่างเช่น สัดส่วน NPL อยู่ที่ร้อยละ 2.2 หมายความว่า สถาบันการเงินมีการปล่อยกู้ 100 บาท และมีหนี้เสียจากการปล่อยกู้อยู่ 2.2 บาท
  4. สภาพคล่อง : พิจารณาจากสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย หรือเรียกว่าสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินฝาก หรือพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของยอดรวมเงินฝากทุกประเภท รวมตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่มีระยะเวลาจ่ายคืนไม่เกิน 1 ปี
  5. อันดับความน่าเชื่อถือ : ที่จัดโดยสถาบันจัดอันดับ เช่น TRIS, Moody’s, Standard & Poor’s หรือ Fitch ซึ่งผู้ฝากเงินใช้ประกอบการพิจารณาความมั่นคงของสถาบันการเงินได้ โดยทั่วไปอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่น่าลงทุน คือ ตั้งแต่อันดับ BBB ขึ้นไป

การนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้ในประเทศไทยมีข้อดีอย่างไร?

ระบบคุ้มครองเงินฝากนั้นมีมาแล้วเกือบ 2 ศตวรรษแล้ว โดยประเทศแรกที่นำระบบดังกล่าวมาใช้คือสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยได้มีการประกาศใช้ระบบคุ้มครองเงินฝากโดยจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นในปี 2551 อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะสรุปเหตุผลการที่ประเทศไทยนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้ จะขอกล่าวถึงความเป็นมาเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝากในประเทศไทย เพื่อให้มีความเข้าใจสภาวการณ์ของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงการนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

2Q==

ย้อนไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบสถาบันการเงินของประเทศไทย ในปี 2540 ที่วิกฤตการณ์ทางการเงินส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งการเกิดปัญหาฐานะหรือการดำเนินงานของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ทำให้ผู้ฝากเงินเกิดการตื่นตระหนกถอนเงินฝากจำนวนมาก ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ธปท. ได้สั่งระงับการดำเนินกิจการบริษัทเงินทุนจำนวน 16 แห่ง และในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2540 สั่งระงับการดำเนินกิจการเพิ่มเติมอีกจำนวน 42 แห่ง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 58 แห่ง การปิดสถาบันการเงินจำนวนมากนี้ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงินจำนวนมากราย ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ฝากเงินในบริษัทเงินทุน 58 แห่งดังกล่าว โดยผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุน 16 แห่ง สามารถนำตั๋วสัญญาใช้เงินมาเปลี่ยนเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน (มีดอกเบี้ย) ของบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุน 42 แห่ง ให้เปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นบัตรเงินฝากของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยเงินฝากจำนวนต่ำกว่า 1 ล้านบาทแลกเปลี่ยนเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 6 เดือน เงินฝากจำนวนตั้งแต่ 1-10 ล้านบาทแลกเปลี่ยนเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน อายุ 3 ปี และเงินฝากที่มีจำนวนเกิน 10 ล้านบาทแลกเปลี่ยนเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 5 ปี อย่างไรก็ตาม มาตรการดูแลผู้ฝากเงินดังกล่าวยังไม่สามารถช่วยเรียกความมั่นใจของผู้ฝากเงินในระบบกลับคืนมาได้และประชาชนก็ยังเร่งถอนเงินฝากออกจากระบบ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2540 กำหนดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund หรือ FIDF) รับประกันเงินฝาก และเจ้าหนี้เต็มจำนวน (Blanket guarantee) ของสถาบันการเงินที่ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ในขณะนั้น มาตรการ Blanket Guarantee เพื่อหยุดภาวะตื่นตระหนกเร่งถอนเงิน เป็นมาตรการที่หลายประเทศนำมาใช้ในยามที่เกิดวิกฤตระบบสถาบันการเงิน ซึ่งปรากฏว่ามาตรการ Blanket Guarantee ดังกล่าวสามารถยุติภาวะตื่นตระหนกเร่งถอนเงินในภาวะวิกฤตขณะนั้นได้ อย่างไรก็ดี การประกันเงินฝากเต็มจำนวน

จะต้องใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น เพราะการประกันเงินฝากเต็มจำนวนจะส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการขาดวินัยของทั้งผู้ฝากเงินและสถาบันการเงิน (Moral Hazard) กล่าวคือ ผู้ฝากมุ่งดูผลตอบแทน แทนการดูความมั่นคงของสถาบันการเงิน ส่วนสถาบันการเงินก็อาจดำเนินธุรกิจอย่างสุ่มเสี่ยงเกินควรเพราะมีภาครัฐดูแลให้ความมั่นใจกับผู้ฝากซึ่งเป็นแหล่งเงินสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้แล้ว

มาตรการ Blanket Guarantee เป็นการคุ้มครองผู้ฝากตามมติคณะรัฐมนตรีโดยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นผู้ดำเนินงาน ซึ่งผลจากมาตรการ Blanket Guarantee สามารถยุติปัญหาตื่นตระหนกได้ แต่ก็ส่งผลให้เกิดภาระงบประมาณของภาครัฐที่มาจากภาษีของประชาชนในการจ่ายเงินคืนเงินให้ผู้ฝากเป็นจำนวนสูงมากถึง 1.4 ล้านล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 12 ของ GDP ปี 2556 นี่คือเหตุผลสำคัญที่มาตรการ Blanket Guarantee จะนำมาใช้เมื่อประเทศมีวิกฤติการทางการเงินเท่านั้น ไม่มีความเหมาะสมที่จะใช้ในยามภาวะปกติ

เมื่อสภาวะการณ์ของประเทศเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2551 และมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นของการคุ้มครองเงินฝากแบบชัดเจน (Explicit Deposit Insurance) กล่าวคือ มีกฎหมายกำหนดชัดเจนถึงสิทธิของผู้ฝากเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก มีหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน และมีการเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินมาเก็บสะสมไว้ในกองทุนคุ้มครองเงินฝากเพื่อใช้จ่ายคืนเงินผู้ฝาก หากมีเหตุสถาบันการเงินล้มก็ไม่ต้องนำเงินภาษีมาใช้ในการจ่ายคืนผู้ฝากเงิน

ท่านอาจจะมีคำถามว่า การมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่มีการกำหนดจำนวนเงินคุ้มครองจะช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินได้อย่างไร จึงต้องขออธิบายเพิ่มเติมว่า การคุ้มครองเงินฝากแบบมีกำหนดจำนวนเงินคุ้มครองไว้ จะส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ คือ ผู้ฝากระมัดระวังในการเลือกเฟ้นสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง ไม่ใช่ดูที่ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว และสถาบันการเงินก็ต้องดำเนินงานอย่างโปร่งใส เป็นมืออาชีพเพื่อให้ผู้ฝากที่มีเงินฝากสูงเกินกว่าจำนวนเงินคุ้มครองยังคงใช้บริการทางการเงินกับตนอยู่ สรุปคือไม่เกิด Moral Hazard ทั้งจากผู้ฝากและสถาบันการเงิน หากสถาบันการเงินใดไม่ดำเนินการตามครรลองที่เหมาะสมก็ต้องให้ออกจากระบบไป (Orderly Exit) โดยผู้ฝากรายย่อยที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลก็จะไม่ได้รับผลกระทบเพราะได้รับคืนเงินฝากที่ตนมีอยู่ในสถาบันการเงินนั้นจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ส่วนผู้ฝากรายใหญ่ก็จะได้รับคืนตามจำนวนที่คุ้มครองก่อน ส่วนที่เหลือสามารถรับคืนได้ภายหลังจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากในฐานะผู้ชำระบัญชี

กล่าวโดยสรุป การนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้มีข้อดีที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ฝากเงินระบบการเงิน ภาครัฐและภาคประชาชน กล่าวคือ ผู้ฝากเงินมีความมั่นใจได้ว่าจะได้รับเงินฝากคืนในเวลาที่กำหนดชัดเจนหากสถาบันการเงินที่ฝากเงินไว้ปิดกิจการ ผู้ฝากทุกรายจะได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติตามจำนวนเงินคุ้มครองที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและช่วยลดความตื่นตระหนกของผู้ฝากเงิน ข้อดีต่อระบบการเงิน คือ สถาบันการเงินจะเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานให้ผู้ฝากเงินได้รับรู้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบการเงินทั้งระบบ และ ข้อดีต่อภาครัฐ ภาคประชาชน ได้แก่ การมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และกองทุนคุ้มครองเงินฝากจะเป็นการช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐที่มาจากภาษีของประชาชนในการจ่ายคืนเงินให้ผู้ฝากเมื่อมีสถาบันการเงินล้ม

ขอบเขตการคุ้มครองเงินฝาก

ในฐานะผู้ฝากเงิน เราคงอยากจะทราบว่า เงินฝากที่เรามีอยู่กับสถาบันการเงินได้รับการคุ้มครองหรือไม่ แล้วถ้าเรามีเงินฝากหลายประเภท เงินฝากประเภทไหนจะได้รับการคุ้มครองและ

ประเภทไหนจะไม่ได้รับการคุ้มครอง แล้วจะคุ้มครองเท่าไหร่ เราจะมาตอบคำถามเหล่านี้กันในตอนนี้

Q: คุ้มครองใครบ้าง?

A: ผู้ฝากเงินทุกรายจะได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ โดยผู้ฝากเงินจะต้องฝากเงินกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครอง ทั้งนี้ ไม่รวมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอิสลาม ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น แต่ผู้ฝากเงินกับธนาคารของรัฐเหล่านี้ก็อย่าเป็นกังวลไป แม้ว่าธนาคารของรัฐเหล่านี้จะไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก แต่ธนาคารของรัฐเหล่านี้ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งมีรัฐบาลคอยดูแลอยู่เช่นกัน

Q: คุ้มครองเงินฝากประเภทใดบ้าง?

A: ในการกำหนดว่าเงินฝากประเภทใดได้รับการคุ้มครองมีหลักอยู่ว่า การคุ้มครองเงินฝากจะเน้นไปที่ผู้ฝากรายย่อยในประเทศที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางการเงิน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินต้องไม่ซับซ้อน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนจะไม่ได้รับการคุ้มครองเพราะถือว่า ผู้ที่ฝากเงินประเภทนี้ต้องมีความรู้และสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินได้ดี ตัวอย่างเช่น เงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝงที่ผลตอบแทนของเงินฝากเปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนไหวของดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ดัชนีเงินเฟ้อ หรือ ดัชนีตลาดหุ้น ตามแต่จะกำหนด เงินฝากประเภทนี้จึงไม่ได้รับการคุ้มครอง เพราะถือว่าผู้ฝากเงินต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจและการเงินได้ดี ทำให้สามารถยอมรับความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของดัชนีที่ผลตอบแทนผูกติดไว้ได้เป็นต้น

ตรวจสอบเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง คลิก


ปรับปรุงล่าสุด 28 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม