สถาบันการเงิน
ในระบบการเงินของทุกประเทศ จำเป็นต้องมีสถาบันการเงินทำหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนวงจรการไหลเวียนของเงินให้เกิดความคล่องตัว และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากไม่มีสถาบันการเงิน พ่อค้า นักธุรกิจ ตลอดจนประชาชน ก็จะเกิดความวุ่นวายยุ่งยากในการทำธุรกิจหรือดำเนินชีวิตที่เกี่ยวกับเงิน
สถาบันการเงินที่สำคัญๆ ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 7 กลุ่ม ดังนี้
- ธนาคารกลาง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน อันเป็นเรื่องสำคัญของประเทศที่จะต้องมีคนกลางทำหน้าที่เหล่านี้ให้กับธนาคารพาณิชย์และประชาชน และธนาคารกลางจะไม่มีหน้าที่ในการรับฝากและให้กู้เงินแก่ประชาชน โดยหน้าที่ดังกล่าวจะเป็นของธนาคารพาณิชย์และรัฐบาล
- ธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ และสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่เปิดทำการในประเทศไทย ทำการรับฝากและให้กู้ยืมเงิน โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ออมกับผู้ที่ต้องการใช้เงิน กล่าวคือ นำเงินออมของประชาชนไปสู่การใช้เงินของบริษัท ห้างร้าน วิสาหกิจต่างๆ ระบบนี้ช่วยลดความเสี่ยงให้กับกิจการและระบบการเงินตั้งแต่ต้น เพราะหากผู้ขอกู้ยืมเงิน เสนอโครงการที่ไม่มีความแน่นอนทางการเงิน หรือมีความเสี่ยงต่อความอยู่รอดในอนาคต ธนาคารพาณิชย์จะปฏิเสธการปล่อยเงินกู้ เท่ากับช่วยคัดกรองธุรกิจที่ดีๆ เข้าสู่ระบบการเงิน
- ธนาคารเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย อยู่ภายใต้กฎหมายเฉพาะเนื่องจากแต่ละแห่งก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น ธนาคารออมสิน ตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างวิสัยการออมเงินให้กับประชาชน เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้จะก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ทุกแห่งก็ยังให้บริการรับฝากและให้กู้ยืมเงินที่ไม่ได้แตกต่างไปจากธนาคารพาณิชย์มากนัก
- บริษัทประกันชีวิต ถือเป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่ง เพราะให้บริการออมเงินควบคู่กับการให้ความคุ้มครองชีวิต กล่าวคือ ภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้กับผู้เอาประกัน บริษัทจะรับเงินเบี้ยประกัน จนถึงเวลาหนึ่ง แล้วจึงจ่ายคืนให้ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยในระหว่างนั้นบริษัทจะจ่ายเงินให้เป็นค่ารักษาพยาบาล หรือค่าชดเชยเมื่อเกิดภัยกับร่างกายหรือชีวิตของผู้เอาประกัน
- โรงรับจำนำ เป็นสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมโดยรับจำนำทรัพย์สิน อาทิ สร้อย แหวน นาฬิกา ทีวี เป็นต้น เป็นการให้การช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ผู้ต้องการใช้เงินในระยะสั้น 4 – 5 เดือน เช่น นำเงินไปจ่ายค่าเล่าเรียนของบุตรในตอนเปิดเทอม เป็นต้น อย่างไรก็ดีในปัจจุบันนักธุรกิจก็ได้ใช้บริการของโรงรับจำนำมากขึ้น เนื่องจากการกู้ยืมเงินทำได้ง่ายและรวดเร็วเพียงมีทรัพย์สินไปวางประกันเท่านั้น โรงรับจำนำเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี
- อื่นๆ อาทิ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฯลฯ เหล่านี้เป็นสถาบันการเงินที่เปิดขึ้นเพื่อกิจกรรมเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สำหรับบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้น ทำหน้าที่คล้ายกับธนาคารพาณิชย์คือรับฝากเงิน/กู้ยืมเงินจากประชาชน แล้วนำมาปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจต่างๆ ด้วย
- สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นสถาบันการเงินกลาง ทำหน้าที่เก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ คิดเป็นอัตราส่วนจากเงินรับฝาก นำมาเก็บไว้เป็นกองกลางเพื่อสำรองไว้จ่ายให้กับผู้ฝากเงินกรณีมีสถาบันการเงินที่กล่าวประสบปัญหาต้องปิดกิจการ โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะจ่ายเงินให้กับผู้ฝากเงินและชำระบัญชีสถาบันการเงินนั้นๆ โดยจ่ายตามจำนวนที่ประกาศให้ความคุ้มครอง หากผู้ฝากเงินยังได้รับเงินฝากคืนไม่ครบ ส่วนที่เหลือจะจัดสรรให้ตามส่วน เมื่อสถาบันคุ้มครองเงินฝากทำการชำระบัญชีสถาบันการเงินแห่งนั้นเสร็จสิ้นแล้ว
ปรับปรุงล่าสุด
27 ก.พ. 2567
สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
Infographics
วิดีโอ
ข่าวประชาสัมพันธ์