วางแผนชีวิตให้ดี ด้วยพีระมิดทางการเงิน

การวางแผนทางการเงิน เปรียบเสมือนกับการวาดแผนที่ชีวิตของเรา หากเรามีแผนที่ มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน ก็จะทำให้ชีวิตของเราดำเนินไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับการที่ไม่มีแผนใด ๆ เลย ทั้งนี้ ในการเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังของการวางแผนทางการเงินนั้น จะมีเครื่องมือที่เป็นตัวช่วยในการวางแผนของเรา ซึ่งเรียกว่า "พีระมิดทางการเงิน" (Financial Planning Pyramid)

2Q==

รูปที่ 1: ตัวอย่างของพีระมิดทางการเงิน

ที่มา: https://momsmakecents.com/financial-planning-pyramid/

รูปแบบของพีระมิดทางการเงินนั้นอ้างอิงตามทฤษฎีของ Maslow ซึ่งการวางแผนทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการหรือความจำเป็นขั้นพื้นฐานในชีวิตจะอยู่ในส่วนฐาน และความต้องการในรูปแบบอื่น ๆ จะอยู่ในลำดับพีระมิดที่สูงขึ้น ซึ่งการจะตอบสนองความต้องการในรูปแบบอื่น ๆ ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยรากฐานที่แข็งแรงไล่เรียงเป็นลำดับขั้นขึ้นไปนั่นเอง

องค์ประกอบของพีระมิดทางการเงิน สามารถอธิบายจากฐานถึงยอดได้ดังนี้

ส่วนที่ 1: Protection หรือการป้องกันความเสี่ยง

เป็นฐานของพีระมิดทางการเงินซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางแผนเพื่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน รวมถึงป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินที่อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว ครอบคลุมเรื่องของการวางแผนการใช้จ่าย การควบคุมภาระหนี้สิน การทำประกันประเภทต่าง ๆ และการมีเงินสำรองฉุกเฉินซึ่งครอบคลุม 3-6 เท่าของรายได้ประจำต่อเดือน

ส่วนที่ 2: Savings หรือการออม

เป็นการวางเป้าหมายทางการเงินในอนาคต ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว อาทิ การซื้อบ้าน การศึกษาบุตร ไปจนถึงการวางแผนเกษียณ โดยปกติแล้วจะเริ่มต้นจากการจัดสรรเงินประมาณร้อยละ 15 ของรายได้เพื่อการออม และค่อย ๆ เพิ่มระดับการออมขึ้นไปหากเรามีรายได้เพิ่มขึ้นหรือมีเงินเหลือเก็บออมมากขึ้น

ส่วนที่ 3: Growth หรือการสะสมความมั่งคั่ง

เมื่อเราวางรากฐานทางการเงินด้วยการป้องกันความเสี่ยงและการออมแล้ว ขั้นตอนนี้จะเป็นการวางแผนเพื่อสะสมความมั่งคั่งหรืออีกนัยหนึ่ง คือ การลงทุนนั่นเอง ซึ่งการลงทุนจะเป็นในรูปแบบใดหรือใช้ระยะเวลาการลงทุนเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของ รวมถึงเป้าหมายการลงทุนของผู้ลงทุนแต่ละคน อย่างไรก็ดี การวางแผนการลงทุนควรทำหลังจากที่มีเงินเหลือจริง ๆ จากการวางแผนในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 เพราะหากการลงทุนมีความผิดพลาด เป้าหมายอื่น ๆ จะได้ไม่ถูกกระทบตามไปด้วย นอกจากนี้ การนำเงินไปเคลียร์ภาระหนี้ให้หมดไป ถือเป็นการลงทุนในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

ส่วนที่ 4: Risk หรือการเก็งกำไร

การเก็งกำไร เป็นการลงทุนเพื่อหวังกำไรจากส่วนต่างของราคา ไม่ว่าจะเป็นการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ หรือการเก็งกำไรในหุ้น อย่างไรก็ตาม การเก็งกำไรควรทำเป็นลำดับสุดท้าย เพราะมีความเสี่ยงสูง และบริหารจัดการได้ยาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือมูลค่าในสิ่งที่เก็งกำไร อาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกหลายประการที่ไม่สามารถควบคุมได้

โดยสรุป การทำความเข้าใจพีระมิดทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนทางการเงิน พีระมิดทางการเงินเป็นเครื่องมือที่ดีในการช่วยสะท้อนภาพของการวางเป้าหมายทางการเงินตามลำดับความสำคัญต่าง ๆ หากเราสามารถไต่ระดับพีระมิดทางการเงินตามลำดับที่กำหนดได้ ก็จะทำให้มั่นใจได้ว่าเรามีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอและสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยไม่กระทบกับเป้าหมายทางการเงินระยะยาว

 


โดย: ฝ่ายวิเคราะห์สถาบันการเงิน

ปรับปรุงล่าสุด 28 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม