การควบคุมภายในองค์กร
การควบคุมภายใน คือ กระบวนการที่ผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล ผู้บริหาร และบุคคลอื่นๆ ได้ออกแบบ และนำไปปฏิบัติให้เหมาะสมอยู่เสมอ เพื่อให้ได้ความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผลในการบรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือได้ของรายงานทางการเงิน ความมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง โดยการควบคุมภายในส่วนใหญ่จะใช้มาตรฐานสากลของ The Committee of Sponsoring Organizations of Treadway Commission : COSO เช่น หน่วยงานรัฐจะใช้ หลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่ง ออกตามความในมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานสากลของ COSO 2013
องค์ประกอบของการควบคุมภายใน 5 องค์ประกอบตามมาตรฐาน COSO ได้แก่
- สภาพแวดล้อมการควบคุม
- ความซื่อสัตย์และจริยธรรม
มีการให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ จริยธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงาน มีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนต่อการปฏิบัติที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง และมีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่เป็นไปได้
- ความเป็นอิสระของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล
มีการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระบบการควบคุมภายในที่กำหนด มีผู้ตรวจสอบภายใน และมีการรายงานผลการตรวจสอบ
- การจัดโครงสร้างองค์กร
มีการกำหนดโครงสร้างองค์กรและสายงานการบังคับบัญชาที่ชัดเจนและเหมาะสม รวมทั้งปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์
- ความมุ่งมั่นในการสร้างแรงจูงใจ พัฒนา และรักษาบุคลากร
มีการกำหนดระดับความรู้ ทักษะ และความสามารถที่ต้องการสำหรับการปฏิบัติงานตามตำแหน่งงานต่างๆ รวมทั้งมีแผนฝึกอบรมพนักงานตามความเหมาะสม ตลอดจนมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนรวมทั้งการโยกย้ายเป็นไปตามผลการปฏิบัติงาน
- การกำหนดให้บุคลากรมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน
มีการมอบหมายอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับบุคคลที่เหมาะสม และมีการติดตามผลการดำเนินงานที่มอบหมายมีบทลงโทษเมื่อมีการไม่ปฏิบัติตามนโยบายหรือข้อกำหนด
- การประเมินความเสี่ยง
- การกำหนดวัตถุประสงค์
มีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายการดำเนินงานของสถาบันและฝ่ายงานอย่างชัดเจนและวัดผลได้ โดยพนักงานรู้และเข้าใจอย่างทั่วถึง
- การระบุปัจจัยเสี่ยงและวิเคราะห์ความเสี่ยง
ผู้บริหารและพนักงานมีส่วนร่วมในการระบุและประเมินความเสี่ยง ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกมีการกำหนดเกณฑ์การประเมินความเสี่ยง มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงตามระดับโอกาสและผลกระทบของความเสี่ยง
- การพิจารณาโอกาสที่จะเกิดการทุจริต
มีการระบุความเสี่ยง กำหนดวิธีการควบคุมเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยง จากการทุจริต
- การประเมินการเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับการควบคุมภายใน
- กิจกรรมการควบคุม
- มีการระบุและพัฒนากิจกรรมการควบคุม เพื่อลดความเสี่ยง
- มีการระบุและพัฒนากิจกรรมการควบคุมด้านเทคโนโลยี
- มีกิจกรรมการควบคุม โดยกำหนดไว้ในนโยบาย ประกอบด้วยผลสำเร็จที่คาดหวังและขั้นตอนการปฏิบัติงาน
- สารสนเทศและการสื่อสาร
- มีการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามการควบคุมภายใน
- มีการสื่อสารภายในเกี่ยวกับสารสนเทศ รวมทั้งวัตถุประสงค์และความรับผิดชอบที่มีต่อการควบคุมภายใน
- มีการสื่อสารกับบุคลลภายนอก
- การติดตามประเมินผล
- มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน
- มีการสื่อสารข้อบกพร่อง หรือจุดอ่อนของการควบคุมอย่างทันเวลา
ประโยชน์ของการควบคุมภายใน
- ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการกำกับดูแลที่ดี เป็นเครื่องมือช่วยผู้บริหารในการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน
- ส่งเสริมประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในขั้นตอนต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบ ถูกต้องเหมาะสม และอยู่ในกรอบของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
- ป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการดำเนินงานขององค์กร
โดย: ฝ่ายบริหารความเสี่ยง
ปรับปรุงล่าสุด
28 ก.พ. 2567
สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
Infographics
วิดีโอ
ข่าวประชาสัมพันธ์