การลงทุนในหุ้นกู้ ความเสี่ยง และข้อควรระวังสำหรับผู้ลงทุน (ตอนที่ 1)
หุ้นกู้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการระดมทุนซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากกระแสข่าวในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีบริษัทหลายรายทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ออกมาเสนอขายหุ้นกู้ โดยให้อัตราผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อจูงใจประชาชนในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ
อย่างไรก็ดี การจะลงทุนในหุ้นกู้ ผู้ลงทุนไม่ควรจะพิจารณาเพียงแต่อัตราผลตอบแทนแต่เพียงอย่างเดียว ควรพิจารณาความเสี่ยงอื่น ๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านดอกเบี้ย ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านเครดิตที่สะท้อนในผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะกล่าวต่อไปในบทความชุดนี้
สำหรับบทความชุดนี้ จะขอแนะนำข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับหุ้นกู้ เพื่อเป็นความรู้ก่อนตัดสินใจลงทุน โดยในตอนที่ 1 นี้ จะอธิบายความหมายของหุ้นกู้และหุ้นกู้ประเภทต่าง ๆ
รูปที่ 1: ยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระหว่างปี 2006-2019
ที่มา: ThaiBMA
หุ้นกู้ไม่ใช่เงินฝาก แต่เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง
หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการ เช่น เพื่อลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ หรือเพื่อก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในประเทศไทยการออกหุ้นกู้โดยทั่วไปมักจะกำหนดมูลค่าไว้ที่หน่วยละ 1,000 บาท และหุ้นกู้ส่วนใหญ่มักกำหนดมูลค่าการซื้อขั้นต่ำไว้ที่ 100,000 บาทหรืออาจมากกว่านั้นในกรณีการขายให้นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่
ในการซื้อหุ้นกู้ ผู้ซื้อหรือผู้ลงทุนจะอยู่ในสถานะ "เจ้าหนี้" และบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะอยู่ในสถานะ "ลูกหนี้" โดยที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ซื้อตามที่กำหนดตลอดระยะสัญญาของหุ้นกู้ และจะชำระเงินต้นคืน ณ วันครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ ดังนั้น หุ้นกู้จึงถือเป็นการลงทุนในรูปแบบ "ให้ยืมเงิน (ผู้ลงทุนเป็นเจ้าหนี้)" โดยมีผลตอบแทนแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ แม้หุ้นกู้อาจจะให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเช่นกันกับเงินฝาก แต่ "หุ้นกู้ไม่ใช่เงินฝาก" และยังมีโอกาสที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้อาจเกิดวิกฤติ ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนให้แก่ผู้ลงทุนได้
หุ้นกู้มีหลากหลายประเภทและมีความเสี่ยงแตกต่างกัน
หุ้นกู้จะมีการออกแบบในรูปลักษณะที่ต่างกัน และความเสี่ยงของการที่ผู้ออกหุ้นกู้จะผิดนัดในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นในรูปของอัตราผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ สามารถแบ่งประเภทหุ้นกู้ตามเกณฑ์ต่าง ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น
รูปที่ 2: ตัวอย่างเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทหุ้นกู้
สิทธิเรียกร้อง
สินทรัพย์ค้ำประกัน
สิทธิแฝง
แบ่งตามสิทธิเรียกร้อง
-
- หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond หรือ Junior Bond)
เป็นหุ้นกู้ที่มีเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ถือได้รับสิทธิในการรับชำระหนี้เป็นอันดับรองจากผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิแต่ยังมีสิทธิสูงกว่าหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญ ทั้งนี้ สาเหตุของการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิอาจเป็นผลจากการกระจายโครงสร้างหนี้สินที่องค์กรมี หรืออาจเป็นเพราะเงื่อนไขของเจ้าหนี้เดิมที่ไม่ต้องการให้องค์กรก่อหนี้ที่มีสิทธิทัดเทียมหรือสูงกว่าเป็นการเพิ่มเติม และสำหรับธนาคารพาณิชย์อาจเลือกออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิเนื่องจากหุ้นกู้ชนิดนี้สามารถนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 ได้ โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิสามารถนำมาคิดเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุนได้ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ออก
- หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond)
เป็นหุ้นกู้ที่มีเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ถือได้รับสิทธิในการรับชำระหนี้ในอันดับแรกจากผู้ออก ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้อยู่ในภาวะล้มละลาย และมีคำสั่งให้ต้องขายสินทรัพย์ทอดตลอดเพื่อชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นสามัญ สิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้ดังกล่าวอยู่ในลำดับสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ แต่จะด้อยกว่าเจ้าหนี้บุริมสิทธิโดยทั่วไป ซึ่งได้แก่ เจ้าหนี้การค้า เป็นต้น
รูปที่ 3: ลำดับการได้รับชำระหนี้คืนเมื่อหุ้นกู้เลิกกิจการ
ที่มา: GSB Research
แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน
- หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Secured Bond)
หุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมักเป็นหลักทรัพย์ชนิดต่าง ๆ มาเป็นหลักประกันแก่ผู้ถือหุ้นกู้ โดยมูลค่าสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันนั้นมักมีมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่ามูลค่าของหุ้นกู้ที่เสนอขายทั้งหมด
- หุ้นกู้ชนิดไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Bond)
หุ้นกู้ประเภทนี้จะไม่มีสินทรัพย์มาเป็นหลักประกันแก่ผู้ถือหุ้นกู้ โดยผู้ออกหุ้นกู้จะอาศัยความน่าเชื่อถือของบริษัทตนเอง และความสามารถที่จะจัดสรรกระแสเงินสดเพื่อจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายในกำหนด ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้จะมีสิทธิเพียงการรับส่วนแบ่งจากการขายสินทรัพย์ที่เหลือของบริษัทตามสัดส่วนและลำดับชั้นในการเรียกร้องสิทธิ
แบ่งตามชนิดของสิทธิแฝง
- หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond)
เป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เพราะเป็นหุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นกู้ในการเลือกที่จะแปลงสภาพหุ้นกู้ฉบับนั้นให้เป็นหุ้นสามัญ เมื่อถึงกำหนดเวลาและตามอัตราส่วนการแปลงสภาพ หุ้นกู้ประเภทนี้จะได้รับความนิยมในช่วงที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่ดี
- หุ้นกู้ที่ผู้ออกมีสิทธิขอไถ่ถอนก่อนครบกำหนด (Callable Bond)
เป็นหุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ออกในการไถ่ถอนหุ้นกู้นั้นคืนได้ก่อนวันที่หุ้นกู้หมดอายุ ตามราคาไถ่คืนที่กำหนดไว้ก่อนเป็นการล่วงหน้า ราคาไถ่คืนมักกำหนดไว้สูงกว่าราคาที่ตราไว้เพื่อชดเชยกับการเสียโอกาสการลงทุนของผู้ถือ ซึ่งโดยปกติผู้ออกมักจะไถ่ถอนหุ้นกู้คืนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำ เพื่อยกเลิกหุ้นกู้ฉบับเดิมซึ่งอาจเสนออัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่า แล้วออกหุ้นกู้ฉบับใหม่ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเป็นการทดแทน การไถ่คืนก่อนกำหนดจึงสร้างความเสี่ยงส่วนเพิ่มแก่ผู้ถือ เพราะผู้ถือมักจะได้รับเงินจากการไถ่คืนเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดมีระดับต่ำ แล้วต้องนำเงินทุนนั้นไปลงทุนต่อที่อัตราผลตอบแทนที่ต่ำและไม่น่าสนใจ อย่างไรก็ดี หุ้นกู้ประเภทนี้มักเสนออัตราความเสี่ยงที่สูงกว่าหุ้นกู้ปกติ เพื่อชดเชยความเสี่ยงในการลงทุนที่จะได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าให้แก่ผู้ลงทุน
- หุ้นกู้ที่ผู้ถือมีสิทธิเรียกคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนด (Puttable Bond)
เป็นหุ้นกู้ที่ผู้ถือมีสิทธิเรียกคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนด โดยรายละเอียดของเงื่อนไขและวิธีการจะกำหนดล่วงหน้าตั้งแต่วันออกหุ้นกู้ เช่น หากผู้ถือหุ้นกู้เห็นว่าอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกลดลง ผู้ถือหุ้นกู้อาจเลือกใช้สิทธิในการขอให้ผู้ออกไถ่ถอนหุ้นกู้ชนิดนี้
- หุ้นกู้จากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Asset-backed Securities)
เป็นหุ้นกู้ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยการจ่ายดอกเบี้ยจะมาจากกระแสเงินสดที่ได้จากตัวสินทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้น โดยปกติหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากมีหลักทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้นค้ำประกัน หรือมีกระบวนการเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ (Credit Enhancement)
นอกจากนี้ ยังมีหุ้นกู้อีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน ไม่มีการกำหนดวันไถ่ถอนหรือวันหมดอายุเอาไว้ ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยแต่ละงวดตามเงื่อนไขที่ผู้ออกกำหนด ในขณะที่จะได้รับคืนเงินต้นเมื่อบริษัทผู้ออกหุ้นกู้เลิกกิจการ หรือใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด โดยอาจมีการกำหนดสิทธิแฝง เช่น การด้อยสิทธิ การเลื่อนหรืองดชำระดอกเบี้ยภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ ก็ได้ ทั้งนี้ เงื่อนไขการไถ่ถอนคืนที่ระบุในหุ้นกู้ประเภทนี้โดยส่วนมาก ได้แก่
- ไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดได้โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา เช่น เมื่อถึงระยะที่ระบุ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลักการบัญชี เป็นต้น
- กรณีมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ถูกพิทักษ์ทรัพย์ถาวรหรือล้มละลาย ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ก่อให้เกิดสิทธิของผู้ถือในการเรียกให้หุ้นกู้ถึงกำหนดชำระโดยทันที
เมื่อเรารู้จักหุ้นกู้ และประเภทของหุ้นกู้แล้ว ในบทความต่อไปจะกล่าวถึงคุณสมบัติพื้นฐานของหุ้นกู้ที่ทุกคนควรทราบก่อนการลงทุน
แหล่งอ้างอิง
โชติพิพัฒน์ ฉัตรคูณบุญมัย. (2562). หุ้นกู้ตลอดกาล กับมาตรฐานทางบัญชีใหม่. [ออนไลน์] [อ้างเมื่อ 29 มิถุนายน 2563] เข้าถึงได้จาก: https://www.gsbresearch.or.th/wp-content/uploads/2020/01/MC_hotissue_Perpetual_12_62_ex.pdf
สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน. (2551). ตลาดการเงินและการลงทุนในหลักทรัพย์ หลักสูตรใบอนุญาตสำหรับผู้ขายหลักทรัพย์ (Single License). พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย. (2549). มารู้จักกับการลงทุนในหุ้นกู้ (An Investor’s Guide to Corporate Bonds). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ
โดย: ฝ่ายวิเคราะห์สถาบันการเงิน
ปรับปรุงล่าสุด
28 ก.พ. 2567
สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
Infographics
วิดีโอ
ข่าวประชาสัมพันธ์