การลงทุนในหุ้นกู้ ความเสี่ยง และข้อควรระวังสำหรับผู้ลงทุน (ตอนที่ 2)

หุ้นกู้มีคุณสมบัติพื้นฐานที่ผู้ลงทุนควรทราบและศึกษาทำความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ดังนี้

อายุของหุ้นกู้ (Maturity)

หุ้นกู้จะมีการกำหนดระยะเวลาการชำระดอกเบี้ยและวันครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนควรทราบ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเงินต้นจะได้รับคืนเมื่อไร และมีระยะเวลารับดอกเบี้ยยาวนานเท่าไร อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี หุ้นกู้บางรุ่นอาจมีข้อกำหนดพิเศษ (Option) ให้ผู้ออกสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้

สำหรับในประเทศไทย หุ้นกู้ที่นิยมออกส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 1-5 ปี โดยบริษัทที่ออกหุ้นกู้ระยะยาว ๆ เช่น 10 ปีขึ้นไป ยังมีอยู่จำนวนน้อย และมักจะเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือสูงที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

ประเภทของอัตราผลตอบแทน

การจ่ายผลตอบแทนของหุ้นกู้มีหลายรูปแบบ โดยผู้ออกหุ้นกู้อาจเลือกจ่ายดอกเบี้ยแบบอัตราคงที่หรืออัตราลอยตัวก็ได้ และวิธีการจ่ายอาจกำหนดเป็นการจ่ายแบบเป็นงวด ๆ สม่ำเสมอ หรือจ่ายครั้งเดียว ณ วันไถ่ถอนก็ได้ ซึ่งการกำหนดรูปแบบอัตราดอกเบี้ยและวิธีการจ่ายดอกเบี้ยนั้น โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

รูปแบบอัตราดอกเบี้ย มี 2 รูปแบบ ดังนี้

  1. อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) หุ้นกู้ประเภทนี้จะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่เป็นงวด ๆ เช่น ทุก ๆ 3 เดือน หรือ ทุก ๆ 6 เดือน และจะชำระคืนเงินต้นทั้งจำนวน เมื่อครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
  2. อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) หุ้นกู้ประเภทนี้ จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ผันแปรไปตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีหรืออัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิง สำหรับประเทศไทยมักจะอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดีของธนาคารที่เรียกกันว่า MRR (Minimum Retail Rate) หรือ MLR (Minimum Loan Rate) ดังนั้น ถ้าอัตราที่ใช้อ้างอิงเปลี่ยนแปลง อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่ผู้ลงทุนจะได้รับก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยตัวอย่างเช่น ถ้ากำหนดให้อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ เท่ากับ MLR ของธนาคาร ก + 2% หากธนาคาร ก ปรับเพิ่ม MLR อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้นี้ก็จะผันแปรตามการเพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นต้น

วิธีการจ่ายดอกเบี้ย สามารถแบ่งออกได้ อาทิ

  1. จ่ายดอกเบี้ยทบต้น หุ้นกู้ประเภทนี้ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยระหว่างงวด แต่จะจ่ายทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นให้แก่ผู้ลงทุนเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้
  2. จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด หุ้นกู้ประเภทนี้จะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดตามที่กำหนดไว้ตลอดอายุของหุ้นกู้ เช่น จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน เป็นต้น


    A9BtOCg2UVgOAAAAAElFTkSuQmCC
    รูปที่ 1: กระแสเงินสดของหุ้นกู้ชนิดจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด


  3. ไม่จ่ายดอกเบี้ย (Zero Coupon) หุ้นกู้ประเภทนี้จะไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ยและไม่จ่ายดอกเบี้ยในแต่ละงวด เมื่อถึงวันครบกำหนด ก็จะจ่ายคืนเฉพาะเงินต้นตามราคาที่ระบุไว้ตามหน้าตั๋ว ดังนั้น ราคาที่ขายในครั้งแรก จึงจะต่ำกว่าราคาที่ระบุไว้ เช่น การขายหุ้นกู้ในราคา 800 บาท จากราคาหน้าตั๋ว 1,000 บาท โดยถือว่าส่วนลด 200 บาทนี้เป็นผลตอบแทนของหุ้นกู้ประเภทที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี แม้ว่าหุ้นกู้ประเภทนี้ จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยแต่ผู้ที่ทำการลงทุนในหุ้นกู้ประเภทนี้ จะต้องเสียภาษีในส่วนของดอกเบี้ย เหมือนกับการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีการจ่ายดอกเบี้ย

    GsZA4FAIBAIBAKBQCAQCJwGfn5ydhoCgUAgEAgEAoFAIBAIBAKBQCAQCAQCgUAgEAgEAoFAIBAIBAKBQCAQCAQCgUAgEAgEAoFAIBAIBAKBQCAQCAQCgUAgEAgEAoFAIBAIBAKBQCAQCAQClzj+f8AQZZ2feElvAAAAAElFTkSuQmCC
    รูปที่ 2: กระแสเงินสดของหุ้นกู้ชนิดไม่จ่ายดอกเบี้ยระหว่างงวด


  4. ทยอยจ่ายคืนเงินต้น หุ้นกู้ประเภทนี้จะทยอยจ่ายคืนเงินต้นแก่ผู้ถือหุ้นกู้ตามระยะเวลาและจำนวนเงินที่กำหนด หลักการของหุ้นกู้ประเภทนี้คล้ายกับการผ่อนส่งบ้านหรือรถยนต์ โดยการนำเงินต้นและดอกเบี้ยมารวมกัน และแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ เช่น ทุกไตรมาส หรือทุกครึ่งปี การทยอยจ่ายคืนเงินต้นจะช่วยลดความเสี่ยงจากการที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระคืนเงินต้นจำนวนมากเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนพร้อมกัน

    Aq++jevykKN6AAAAAElFTkSuQmCC
    รูปที่ 3: กระแสเงินสดของหุ้นกู้ชนิดทยอยจ่ายคืนเงินต้น

บทความตอนสุดท้าย จะกล่าวถึงประโยชน์และผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกู้ ความเสี่ยง และประเด็นสำคัญที่ผู้ลงทุนควรพิจารณาก่อนซื้อหุ้นกู้

แหล่งอ้างอิง

สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน. (2551). ตลาดการเงินและการลงทุนในหลักทรัพย์ หลักสูตรใบอนุญาตสำหรับผู้ขายหลักทรัพย์ (Single License). พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย. (2549). มารู้จักกับการลงทุนในหุ้นกู้ (An Investor’s Guide to Corporate Bonds). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ ประเภทของตราสารหนี้. [ออนไลน์] [อ้างเมื่อ 29 มิถุนายน 2563] 

 


โดย: ฝ่ายวิเคราะห์สถาบันการเงิน

ปรับปรุงล่าสุด 28 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม