การลงทุนในหุ้นกู้ ความเสี่ยง และข้อควรระวังสำหรับผู้ลงทุน (ตอนที่ 3)
บทความในตอนที่ผ่านมา ได้แนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับความหมายของหุ้นกู้ ประเภทของหุ้นกู้ รวมทั้งคุณสมบัติพื้นฐานต่าง ๆ ของหุ้นกู้ไปแล้ว ในบทความนี้จะกล่าวถึงประโยชน์ ผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นกู้

ประโยชน์และผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นกู้
ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นกู้ควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ต่อไปนี้ที่จะได้รับจากการลงทุน ได้แก่
- อัตราผลตอบแทน หุ้นกู้ของบริษัทเอกชน มักจะเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น เนื่องจากหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนถือว่ามีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากกว่าพันธบัตรรัฐบาลหรือการออมเงินฝาก
- เป็นแหล่งรายได้ประจำ หุ้นกู้จะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ ให้แก่ผู้ลงทุนและจะจ่ายคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดของอายุหุ้นกู้ จึงทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่าจะมีกระแสเงินสดรับที่แน่นอน
- ความมั่นคงปลอดภัยของเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่จะลงทุน หากหุ้นกู้มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ก็จะมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวจะประเมินจากประวัติทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้เป็นสำคัญ
- การกระจายความเสี่ยงของการลงทุน หุ้นกู้เป็นหนึ่งในตัวช่วยของผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยง โดยผู้ลงทุนสามารถกระจายการลงทุนไปสู่หุ้นกู้ในธุรกิจประเภทต่าง ๆ ที่หลากหลายได้
- สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ หุ้นกู้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนมือกันได้ในตลาดรอง โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันครบกำหนดอายุ อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องการซื้อขายอาจแตกต่างไปตามขนาดและเงื่อนไขของแต่ละหุ้นกู้
ทั้งนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกู้ อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
- เงินได้จากดอกเบี้ย (Interest Income) เป็นรายได้ที่ได้รับตามที่ตกลงไว้
- เงินได้จากส่วนลด (Discount) เป็นผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนที่ได้รับเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนดอายุกับราคาที่ซื้อหุ้นกู้นั้น ในกรณีที่หุ้นกู้นั้นขายในราคาคิดลด
- เงินได้จากการนำดอกเบี้ยไปลงทุนต่อ (Reinvestment หรือ Interest on Interest) เป็นผลตอบแทนที่ได้รับในกรณีที่ผู้ลงทุนนำดอกเบี้ยที่ได้รับไปลงทุนต่อ
- เงินได้จากกำไรจากการขายหุ้นกู้ในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมา (Capital Gain) ขึ้นอยู่กับสภาพตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งเทคนิคในการลงทุนของผู้ลงทุน
ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นกู้
ในด้านปัจจัยความเสี่ยง หุ้นกู้มีความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ อาทิ
- ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) มูลค่าของหุ้นกู้กับอัตราดอกเบี้ยมีความสัมพันธ์แบบผกผัน กล่าวคือ หุ้นกู้จะมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง และจะมีมูลค่าลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ดังนั้น ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ยจึงทำให้เกิดความเสี่ยงด้านราคาของหุ้นกู้ และความเสี่ยงจากการนำดอกเบี้ยที่ได้รับไปลงทุนต่อในอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง
- ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) คือ โอกาสที่บริษัทออกหุ้นกู้ ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้ ผลที่ตามมา คือ บริษัทอาจไม่ยินยอมที่จะชำระหนี้ต่อ หรืออาจถูกฟ้องล้มละลาย ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นกู้เกิดความเสียหายได้ โดยอาจไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้ หรืออาจสูญเสียเงินต้นทั้งหมดที่ลงทุนไป อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงประเภทนี้อาจพิจารณาได้จากผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกและของหุ้นกู้ โดยสำหรับประเทศไทย หุ้นกู้ใหม่ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยบริษัทจัดอันดับที่ ก.ล.ต. เห็นชอบ ซึ่งปัจจุบัน มี 2 แห่งด้วยกัน คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
รูปที่ 1: ตัวอย่างอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้
อันดับเครดิตข้างต้น จะมีเครื่องหมาย + หรือ – เช่น AA- A+ เพื่อแสดงความแตกต่างกันของอันดับเครดิตเพิ่มขึ้น ตามมาตรฐานสากลอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB ขึ้นไปจนถึง AAA ถือว่าหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment grade) ส่วนอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า BBB ลงไป มักเป็นหุ้นกู้ในระดับที่ลงทุนเพื่อเก็งกำไร (Speculative) อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ที่ rating ดี ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ผิดนัดชำระหนี้ เพียงแต่หุ้นกู้ที่มี rating ในระดับดี เช่น อยู่ในระดับ AA- ขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงในเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่าหุ้นกู้ที่มี rating ต่ำ ทั้งนี้ rating หุ้นกู้นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามผลการดําเนินงานของบริษัทหรือปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) คือ ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของการซื้อขายหุ้นกู้ ทำให้ไม่สามารถซื้อขายในจังหวะเวลาและราคาที่เหมาะสมได้ นอกจากนี้ หุ้นกู้บางประเภท อาจจำเป็นต้องขายก่อนกำหนด ซึ่งจะต้องขายในตลาดรองที่มีสภาพคล่องต่ำกว่า และอาจทำให้ขายได้ราคาต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรก
ประเด็นสำคัญที่ผู้ลงทุนควรพิจารณาก่อนซื้อหุ้นกู้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดในบทความตอนที่ 1–3 นี้ ก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาประเด็นสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับหุ้นกู้ที่จะลงทุน ดังนี้
- ลักษณะธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้ แหล่งรายได้หลักของกิจการ และปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงเฉพาะของหุ้นกู้ เช่น เงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นที่ผู้ออกหุ้นกู้อาจเลื่อนจ่ายได้ ดังเช่นที่มีการกำหนดไว้ใน Perpetual bond หรือการที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกไถ่ถอนได้ก่อนกำหนดของ Callable bond
- อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้หรือผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งจะสะท้อนถึงโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ หากหุ้นกู้ใดไม่มีการจัดอันดับเครดิต ผู้ลงทุนควรต้องพิจารณาพื้นฐานบริษัท งบการเงินรวมถึงสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะไม่ผิดนัดชำระหนี้
- หลักประกัน ต้องพิจารณาว่าเป็นหลักประกันประเภทใด เช่น ที่ดิน อาคาร หรือหลักทรัพย์ และมีมูลค่าคิดเป็นกี่เท่าของมูลค่าหุ้นกู้ เพื่อให้แน่ใจว่าหลักประกันจะมีมูลค่าเพียงพอหากเกิดเหตุบริษัทผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้
- ข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ เป็นการกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้และหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ไม่ให้บริษัทกระทำการใดอันซึ่งจะส่งผลต่อการชำระหนี้ในอนาคต
- ฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน ผู้ลงทุนควรศึกษาทั้งฐานะทางการเงินและอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของบริษัทที่จะออกหุ้นกู้ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการชำระหนี้คืนของบริษัท
อนึ่ง ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากทั้งเว็บไซต์ของสมาคมตราสารหนี้ไทย และ ก.ล.ต. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน
แหล่งอ้างอิง
สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน. (2551). ตลาดการเงินและการลงทุนในหลักทรัพย์ หลักสูตรใบอนุญาตสำหรับผู้ขายหลักทรัพย์ (Single License). พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย. (2549). มารู้จักกับการลงทุนในหุ้นกู้ (An Investor’s Guide to Corporate Bonds). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย. (2562). เข้าใจหุ้นกู้ใน 5 นาทีกับ Fact sheet. [ออนไลน์] [อ้างเมื่อ 29 มิถุนายน 2563] เข้าถึงได้จาก: http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2019/18072019.aspx
โดย: ฝ่ายวิเคราะห์สถาบันการเงิน
ปรับปรุงล่าสุด
28 ก.พ. 2567
สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
Infographics
วิดีโอ
ข่าวประชาสัมพันธ์