กิจการการเงินนอกระบบ เป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่ง ที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่มีกฎหมายเฉพาะในการควบคุมดูแล อาศัยการยอมรับตามข้อตกลงในกลุ่มที่กำหนดขึ้นเอง แตกต่างไปจากสถาบันการเงินในระบบ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากให้ความคุ้มครอง และอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน
ส่วนธนาคารเฉพาะกิจอื่นๆ อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเหล่านี้แม้ไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ก็มีกฎหมายเฉพาะของแต่ละธนาคารในการกำกับดูแลโดยทางการ กล่าวได้ว่าการมีกฎหมายบัญญัติไว้ ก็เพื่อการควบคุมให้เกิดความมั่นคงและเกิดความน่าเชื่อถือในธนาคารเฉพาะกิจแต่ละแห่งนั่นเอง ผู้ฝากเงินจะรู้สึกว่าตนเองมีความปลอดภัยเพราะทางการทำหน้าที่สอดส่องดูแลอยู่ตลอดเวลา
แม้การเงินนอกระบบจะมีความเสี่ยงภัยสำหรับผู้ฝากเงิน เนื่องจากไม่มีกฎหมายดูแลเป็นการเฉพาะ แต่ก็ยังมีกิจการที่ตั้งขึ้นและใช้ชื่อ "ธนาคาร" นำหน้า เพื่อให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าในกลุ่ม ได้แก่ ธนาคารสัจจะออมรายวัน ธนาคารเบี้ยกุดชุม ซึ่งพื้นฐานทางการเงินของกลุ่มเหล่านี้ เกิดมาจากสมาชิกในกลุ่มร่วมกันก่อตั้งขึ้น เนื่องจากไม่สามารถพึ่งพาสถาบันการเงินในระบบได้ เพราะแต่ละคนไม่มีฐานะการเงินแน่นอน ไม่มีหลักประกันที่จะใช้ในการกู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงอาศัยพึ่งพากันในกลุ่มของตนเอง กำหนดเป็นข้อตกลงระหว่างสมาชิก ให้มีการเก็บออมเงิน และสามารถกู้ยืมเงินจากกลุ่มได้
บางกิจการตั้งขึ้นในรูปของกลุ่มออมทรัพย์กิจการเหล่านี้หลายๆ แห่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากโดยหลักการแท้จริงแล้วเป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์นั่นเอง อย่างไรก็ดี กิจการเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือจากผู้ก่อตั้ง หรือผู้นำองค์กรเป็นที่นับหน้าถือตาหรือมีอุดมการณ์ที่ดีในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปัญหาคือ ควาน่าเชื่อถือหรือศรัทธาในตัวผู้นำจะยืนยาวต่อไปเพียงใด เพราะหากหมดสิ้นบุคคลดังกล่าวแล้ว ก็จะมีผู้สืบทอดหน้าที่ดูแลต่อไป จะเชื่อถือและไว้วางใจได้เพียงใด นี่คือความเสี่ยงของกิจการการเงินนอกระบบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นมิอาจจะติดตามหาผู้รับผิดชอบได้โดยง่าย
กิจการการเงินนอกระบบที่รู้จักกันในอีกรูปแบบหนึ่งคือ แชร์ซึ่งในอดีตมีตัวอย่างที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้างมาแล้ว เช่น แชร์แม่ชะม้อย แชร์แม่นกแก้ว แชร์เสมาฟ้าคราม เป็นต้น แม้แต่วงแชร์ย่อยๆ ในกลุ่มคน 10-20 คน ที่ยังคงเห็นอยู่ เมื่อเริ่มกิจกรรมไประยะหนึ่ง สมาชิกบางคนไม่ชำระเงินตามข้อตกลง หลบหนีหนี้สินในวงแชร์ ก็ทำให้เกิดปัญหากับสมาชิก
ในกลุ่ม แม้กิจการการเงินนอกระบบจะมีความเสี่ยง แต่ก็ยังคงมีอยู่ เพราะกิจกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นโดยง่าย ไม่ต้องขออนุญาตในการจัดตั้ง แค่เพียงมีคนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะสมาชิกกลุ่ม ไม่ต้องทำสัญญาให้ยุ่งยาก อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน บางประเภทให้ผลตอบแทนสูง จูงใจในการลงทุน
อีกประเภทหนึ่ง คือ เงินกู้นอกระบบ ที่มีปัญหาให้เห็นเป็นระยะๆ จากการตามหนี้ด้วยวิธีการรุนแรง ผู้กู้รู้อยู่ว่าตนเองต้องจ่ายคืนเงินในอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก แต่ในตอนตัดสินใจกู้นั้น ไม่มีทางเลือกเนื่องจากต้องการแหล่งเงินเพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉิน เช่น นำไปชำระหนี้ที่ค้างรายอื่น เป็นต้น แหล่งเงินกู้ประเภทนี้ให้กู้ยืมรวดเร็วจึงเป็นที่นิยม และทางการปราบปรามได้ไม่สิ้นสุด
ปรับปรุงล่าสุด 27 ก.พ. 2567
สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
Infographics
วิดีโอ
ข่าวประชาสัมพันธ์