เงิน เงินทุน และ เงินกองทุน

"เงิน" เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากมี อยากได้ สมัยก่อนมีคำกล่าวว่า "มีเงินนับเป็นน้องมีทองนับเป็นพี่" แสดงถึงคุณค่าของการมีเงินและทองสำหรับคนในสังคม เงินทองและของมีค่าต่างๆ ในสมัยก่อน เจ้าของเก็บรักษาไว้เอง เริ่มต้นจากการใส่ตุ่มฝังดินเอาไว้ จนถึงปัจจุบันมีคนคอยรับดูแลเก็บรักษาให้ เช่น ฝากเงินไว้กับธนาคาร ถึงเวลาต้องการใช้เงินก็เบิกถอนเป็นคราว ๆ ความน่าเชื่อถือของธนาคารที่รับฝากเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้ฝากเงิน ไม่ต้องการสูญเสียเงินที่เก็บหอมรอมริบเอาไว้

สำหรับธุรกิจหรือองค์กร เงินในกิจการอาจจะอยู่ในรูปเงินสด เงินฝากธนาคาร รวมถึง เงินสดย่อย และเช็ครอการเรียกเก็บ นอกจากต้องดูแลให้มีความปลอดภัยแล้ว ยังต้องทำให้เกิดประโยชน์ด้วย โดยเริ่มมองต่อไปถึง "เงินทุน" ของกิจการ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ

9k=

"เงินทุน" เป็นเงินที่กิจการใช้อยู่ในทุกๆ วัน ทั้งเงินเข้า (ที่มาของเงิน) และเงินออก (ทางใช้ไปของเงิน) หากธุรกิจหรือองค์กร สามารถบริหารเงินทุนได้มีประสิทธิภาพ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการสูญเปล่า มีความคล่องตัวในการดำเนินงานและสร้างรายได้

ในธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะมีทั้ง "เงิน" และ "เงินทุน" มาเกี่ยวข้องเช่นเดียวกันแต่เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เป็นกิจการที่ต้องการความมั่นคงและน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก ดังนั้น ทางการจึงกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมี "เงินกองทุน" ที่พอเพียงต่อการดำเนินธุรกิจ หากมองแบบง่ายๆ "เงินกองทุน" ในที่นี้ก็คือ "ทุน" หรือ "ส่วนของเจ้าของ" ในงบแสดงฐานะการเงิน (เดิมเรียก งบดุล) นั่นเอง ยิ่งเงินกองทุนมีมาก ก็แสดงถึงความแข็งแกร่งของแหล่งเงินทุนที่ได้มาจากเจ้าของกิจการ แสดงให้เห็นว่า เจ้าของกิจการเชื่อมั่นว่าจะดูแลธนาคารพาณิชย์ให้มั่นคง มิฉะนั้นตนเองจะประสบความเสียหาย หากดูจากในงบแสดงฐานะการเงิน รายการสินทรัพย์ ซึ่งอยู่ด้านซ้ายมือ หักกลบ ด้วยรายการหนี้สินทางด้านขวามือจะเหลือเท่ากับทุน หรือส่วนของเจ้าของที่มีอยู่ในกิจการ ดังนั้น หากทุนดังกล่าวแสดงเป็นจำนวนติดลบนั่นหมายถึงเจ้าของกิจการได้รับผลเสียหายจนกระทั่งเงินที่ตนเองนำมาลงทุนไว้ได้หมดสิ้นไปแล้ว รวมทั้งอาจส่งผลกระทบไปถึงเจ้าหนี้ ที่จะต้องพลอยได้รับผลเสียหายในส่วนที่เจ้าของกิจการชดใช้ได้ไม่หมดอีกด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้ปรากฏให้เห็นได้ในงบแสดงฐานะการเงินโดยรายการสินทรัพย์ทางด้านซ้ายมือจะมีจำนวนน้อยกว่ารายการหนี้สิน ในด้านขวามือ

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทางการมุ่งให้ความสำคัญกับ "เงินกองทุน" ของธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างยิ่ง เพื่อดูแลให้ธนาคารพาณิชย์บริหาร "เงินทุน" ของกิจการด้วยความเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อ "เงิน" ที่ประชาชนนำไปฝากไว้กับธนาคารทุกแห่ง


ปรับปรุงล่าสุด 27 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม