การบริหารความเสี่ยงองค์กร

ในโลกยุคใหม่ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งคลื่น Disruption จากเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ หรือแม้แต่สังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต การบริหารความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Management : ERM) จึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัว อยู่รอด และขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การบริหารความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Management : ERM) คือ กระบวนการในการระบุและประเมินเหตุการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งส่งผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร หรือที่เรียกว่า "ความเสี่ยง" และระบุแนวทางในการจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เพื่อให้องค์กรสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้โดยกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรที่เป็นหลักปฏิบัติสากลและนิยมใช้กันทั่วโลกมาจากแนวทางของ COSO (The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission) หรือ COSO ERM Framework ดังภาพ

การบริหารความเสี่ยงองค์กร

Strategy and Performance

Risk Management Process

1. Mission Vision & Core Values ระบุตัวตนขององค์กรให้ชัดเจน และกำหนดเป็น Mission Vision และ Core Values

I. Governance & Culture สร้างกรอบการกำกับดูแลและวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถผลักดันองค์กรให้บรรลุความเป็นตัวตนที่ได้กำหนดเอาไว้

2. Strategy Development กำหนดข้อสมมติฐานเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และกำหนด Strategy ขององค์กรให้สอดคล้องกับข้อสมมติฐานดังกล่าวเพื่อให้ บรรลุ Mission Vision และ Core Values ที่กำหนดไว้

II. Strategy & Objective Setting สอบทานข้อ สมมติฐานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสรุปว่า Strategy ที่องค์กรเลือกมานี้มีความเหมาะสมหรือไม่ โดยอาจมีการประเมิน Alternative Strategy เพิ่มเติม

3. Business Objective Formulation นำ Strategy มากำหนดเป็น Objective หรือเป้าหมายในระยะสั้นของ องค์กรและแผนการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุตาม Mission ที่กำหนดไว้

III. Performance ระบุ ประเมิน และจัดลำดับความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการบรรลุ Objective ขององค์กร รวมทั้งจัดทำแผนจัดการให้ความเสี่ยงให้ลงมาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (Risk Appetite)

4. Implementation & Performance ดำเนินการตามแผนการดำเนินงาน โดยมีการติดตามและผลักดันให้ แผนการดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

IV. Review & Revision ทบทวนสภาพแวดล้อมและความเสี่ยง และแผนจัดการความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ

5. Enhanced Value ได้ผลลัพธ์ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

V. Information, Communication & Reporting สื่อสารและรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อ Stakeholder ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ

โดยสรุปแล้ว COSO ERM Framework มุ่งเน้นการผนวกกระบวนการบริหารความเสี่ยงเข้ากับตัวแบบทางธุรกิจและการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กร ผ่านขั้นตอนที่มีความละเอียด เป็นระบบ ตั้งแต่การระบุความเสี่ยงการประเมินความเสี่ยง การจัดทำแผนจัดการความเสี่ยง การติดตามและรายงานผล รวมทั้งการทบทวนความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการในทุกระดับทั่วทั้งองค์กร และกำหนดให้พิจารณาความเสี่ยงอย่างครอบคลุมใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านกลยุทธ์ ด้านการปฏิบัติงาน ด้านการเงิน และด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ภายใต้สภาพแวดล้อมในการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม อาทิ การกำหนดนโยบายและปฏิบัติตามอย่างจริงจัง (Tone from the Top) การมีธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมในการบริหารความเสี่ยงที่ดี การกำหนดโครงสร้างการดำเนินงานที่เหมาะสม ตลอดจนการมีบุคลากรมีความรู้ความสามารถในการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้กระบวนการบริหารมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรได้อย่างแท้จริง

สถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่นำ COSO ERM Framework มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กร ซึ่งครอบคลุมกระบวนการบริหารความเสี่ยงตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยกำหนดไว้อย่างชัดเจนในนโยบายและคู่มือปฏิบัติงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการด้านการบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งองค์กร รวมทั้งเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์และแผนงานของสถาบัน ทั้งในระดับกลยุทธ์ ระดับบริหาร และระดับปฏิบัติการ นอกจากนี้ สถาบันยังมีการจัดทำดัชนีชี้วัดความเสี่ยงองค์กรที่สำคัญ (Key Risk Indicators – KRIs) เพิ่มเติม เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามและส่งสัญญาณเตือนความเสี่ยงล่วงหน้า ทำให้มั่นใจได้ว่าสถาบันจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่สำคัญให้อยู่ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และดำเนินงานให้บรรลุพันธกิจและวัตถุประสงค์ที่มีผลประโยชน์ของผู้ฝากเงินเป็นที่ตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 


โดย: ฝ่ายบริหารความเสี่ยง

ปรับปรุงล่าสุด 28 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม