หลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิภาพ (Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems)

เพื่อสร้างหลักการสากลให้สถาบันประกันเงินฝากในประเทศต่างๆ ยอมรับและถือปฏิบัติซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประกันเงินฝาก International Association of Deposit Insurers (IADI) ในฐานะองค์กรกลางที่เชื่อมโยงสถาบันประกันเงินฝากในแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน ได้ร่วมมือกับ Bank for International Settlement (BIS) ในการกำหนดหลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิภาพ (Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems) โดยพัฒนามาจากประสบการณ์จริงซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถาบันประกันเงินฝากในประเทศที่มีบริบทแตกต่างกันได้

หลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับการอนุมัติและนำออกเผยแพร่ในเดือนมิถุนายน 2552 และได้รับการทบทวนปรับปรุงในเดือนพฤษภาคม 2559 จำแนกได้เป็น 18 หัวข้อ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

หัวข้อ

สาระสำคัญ

1. วัตถุประสงค์เชิงนโยบาย

(Public Policy Objectives)

การกำหนดวัตถุประสงค์เชิงนโยบายควรเป็นไปเพื่อเป็นการประกันผู้ฝากและเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงิน โดยควรกำหนดไว้อย่างเป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้ ระบบการประกันเงินฝากที่ดีควรมีการออกแบบและกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงนโยบาย

2. การบรรเทาปัญหาพฤติกรรมชักนำความเสี่ยง

(Mitigating moral hazard)

ควรบรรเทาปัญหาพฤติกรรมชักนำความเสี่ยง หรือ Moral hazard โดยออกแบบระบบประกันเงินฝากอย่างเหมาะสม และมี Financial system safety net ทั้งนี้ ลักษณะของระบบประกันเงินฝากที่เหมาะสม ได้แก่ การจำกัดวงเงินประกัน การไม่ประกันเงินฝากบางประเภท และการใช้ระบบเก็บค่าธรรมเนียมตามความเสี่ยง เป็นต้น

3. บทบาทหน้าที่

(Mandate)

ควรกำหนดบทบาทหน้าที่ของสถาบันให้ชัดเจนและเป็นทางการ เพียงพอในการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางนโยบายและอำนาจความรับผิดชอบของสถาบัน

4. อำนาจ

(Powers)

ควรมีอำนาจดำเนินการที่จำเป็นต่อการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง อาทิ การหาแหล่งเงินเพื่อใช้จ่ายคืนเงินฝาก การทำสัญญา การตั้งงบประมาณเพื่อใช้บริหารกิจการภายใน และการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ เพื่อเป็นหลักประกันว่าสถาบันจะดำเนินการได้ตามที่ผู้ฝากเงินคาดหวัง และมีการกำหนดไว้อย่างเป็นทางการ

5. ธรรมาภิบาล

(Governance)

ควรดำเนินงานด้วยความเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองหรืออิทธิพลของธุรกิจสถาบันการเงิน

6. ความสัมพันธ์กับหน่วยงาน Safety net อื่นๆ

(Relationships with other safety-net participants)

ควรมีการจัดทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการในการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสถาบัน หน่วยงานกำกับดูแล สถาบันการเงิน โดยข้อมูลควรมีความถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนคำนึงถึงการรักษาความลับของข้อมูลด้วย

7. ประเด็นระหว่างพรมแดน

(Cross-border issues)

ควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่สำคัญกับสถาบันประกันเงินฝากแห่งอื่น (บางประเทศมีสถาบันประกันเงินฝากหลายแห่ง) หรือหน่วยงานกากับดูแล สถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่มีสถาบันประกันเงินฝากมากกว่า 1 แห่ง จะต้องตกลงกันอย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายคืน แต่ต้องคำนึงถึงการรักษาความลับด้วย

8. สมาชิกภาพแบบบังคับ

(Compulsory membership)

สถาบันการเงินที่รับเงินฝากจากผู้ฝากรายย่อยควรเข้าเป็นสมาชิกของสถาบันแบบภาคบังคับ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา Adverse selection

9. ความคุ้มครอง

(Coverage)

ควรกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า เงินฝากประเภทใดบ้างที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และการกำหนดระดับวงเงินคุ้มครองควรครอบคลุมผู้ฝากส่วนใหญ่ในระบบ

10. การเปลี่ยนจากระบบคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวน ไปเป็นแบบจำกัดจำนวน

(Transitioning from a blanket guarantee to a limited coverage deposit insurance system)

ควรทำด้วยความรวดเร็ว เท่าที่ภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศเอื้ออำนวย

11. การจัดหาเงิน

(Funding)

สถาบันควรมีช่องทางในการจัดหาแหล่งเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายคืนผู้ฝากเงินได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งมีเงินสำรองสภาพคล่องในยามจำเป็นโดยสถาบันการเงินมีหน้าที่นำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก เนื่องจากได้รับประโยชน์โดยตรงจากการมีระบบประกันเงินฝาก ทั้งนี้ระบบประกันเงินฝากที่เก็บเงินนำ ส่งตามความเสี่ยงของสถาบันการเงิน (Risk-based) ควรมีหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณที่โปร่งใสสำหรับสถาบันการเงินสมาชิกทุกแห่ง

12. ความตระหนักรู้ของสาธารณชน

(Public awareness)

ระบบประกันเงินฝากจะมีประสิทธิผลที่ดีได้ ต้องมีการให้ความรู้กับสาธารณชนเกี่ยวกับประโยชน์และข้อจำกัดของระบบประกันเงินฝากอย่างต่อเนื่องด้วย

13. ความคุ้มครองทางกฎหมาย

(Legal protection)

สถาบันและพนักงานควรได้รับการปกป้องจากการถูกฟ้องร้องคดีทางกฎหมายจากการทำงานซึ่งตั้งอยู่บนความถูกต้องและเจตนาที่สุจริต อย่างไรก็ดีพนักงานก็ต้องปฏิบัติตามกฎ Conflict of interest และ Code of conduct ด้วย นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ในเรื่องความคุ้มครองทางกฎหมายแก่พนักงาน ซึ่งควรครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วย

14. การดำเนินการกับผู้มีส่วนร่วมในการทำให้สถาบันการเงินล้ม

(Dealing with parties at fault in a bank failure)

สถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีอำนาจในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้มีส่วนร่วมในการทำให้สถาบันการเงินล้ม

15. การตรวจสอบความผิดปกติของสถาบันการเงิน รวมถึงการเข้าแทรกแซง และการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที

(Early detection and timely intervention and resolution)

สถาบันควรมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน Financial safety net ในการตรวจสอบความผิดปกติของสถาบันการเงิน เพื่อที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไข สถาบันการเงินที่มีปัญหาได้อย่างทันท่วงที โดยควรมีการกำหนดเกณฑ์ชี้วัดก่อนว่า สถานการณ์ในลักษณะใดๆ จึงถือว่าสถาบันการเงินกำลังมีปัญหาทางการเงินและต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา

16.กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิผล

(Effective resolution processes)

การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินล้มอย่างมีประสิทธิผลนั้น ต้องอำนวยให้สถาบัน สามารถจ่ายคืนเงินฝากได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว มีความเป็นธรรม ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ไม่บิดเบือนกลไกตลาด และสามารถจัดการสินทรัพย์เพื่อให้ได้รับชำระคืนสูงสุด รวมทั้งสามารถดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้แล้ว สถาบันหรือหน่วยงานที่มีอำนาจควรสร้างกลไกที่ยืดหยุ่นในการรักษาธุรกรรมการดำเนินงานที่สำคัญของสถาบันการเงินที่มีปัญหา โดยการหาสถาบันการเงินเข้ามารับช่วงสินทรัพย์และหนี้สินของสถาบันการเงินที่ล้มด้วย

17.การจ่ายคืนผู้ฝากเงิน

(Reimbursing depositors)

ควรมีการจ่ายคืนเงินแก่ผู้ฝากได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสถาบันจะดำเนินการได้หากได้รับข้อมูลสถาบันการเงินที่มีปัญหาแต่เนิ่นๆ รวมทั้งมีการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการจ่ายคืนและกระบวนการจ่ายคืนไว้ชัดเจนนอกจากนี้แล้วผู้ฝากเงินควรได้รับข้อมูลว่าเมื่อไรที่จะขอรับเงินฝากคืนได้ ภายใต้เงื่อนไขใดบ้าง

18.การติดตามทรัพย์สินคืน

(Recoveries)

สถาบันควรได้ส่วนแบ่งจากการจัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ล้ม ทั้งนี้ ควรมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ล้ม โดยพิจารณาทั้งในเชิงพาณิชย์และเศรษฐกิจควบคู่กันไป

เนื่องจากหลักการสำคัญ ของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิภาพเป็นเพียงหลักการโดยกว้าง ในระยะต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีส่วนร่วมในการวางแนวทางปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวเพื่อให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องทดสอบและปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป


ปรับปรุงล่าสุด 27 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม