แนวทางการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน
ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัญหาการล้มละลายของสถาบันการเงินอยู่หลายครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และภาคการเงินและการธนาคาร โดยสาเหตุของการล้มละลายของสถาบันการเงินเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ เงินทุนไม่เพียงพอ คุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมลง การบริหารความเสี่ยงขาดความรอบคอบ การขาดสภาพคล่อง การดำเนินธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง และการฉ้อฉลทุจริต เป็นต้น
การแก้ไขปัญหาสถาบันการงินจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ หากการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาและป้องกันไม่ให้ลุกลามไปสู่ทั้งระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ วิธีการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินโดยส่วนใหญ่ที่หลายประเทศนิยมใช้ มีรายละเอียดดังนี้
- การดำเนินการขาย ควบรวมกิจการ(Purchase and Assumption : P&A) เมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการแล้ว สินทรัพย์และหนี้สินของสถาบันการเงินทั้งหมดหรือบางส่วนจะถูกโอนไปยังสถาบันการเงินที่รับซื้อ แม้วิธีการนี้จะถือเป็นการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินโดยภาคเอกชน แต่ในบางกรณีอาจจะต้องมีความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลประกอบกัน โดยสามารถแบ่งประเภทของวิธีการ P&A ได้ดังนี้
- Partial P&A เป็นการรับซื้อสินทรัพย์ รวมถึงการรับภาระหนี้เพียงบางส่วน การทำ P&A กรณีนี้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสถาบันการเงินอาจมีรข้อตกลงต่าง ๆ กับสถาบันการเงินที่เข้ามารับซื้อ อาทิ การรับซื้อเฉพาะสินทรัพย์ที่เป็นเงินสดหรือเทียบเท่าเงินสด (Basic P&A) การรับซื้อบัญชีลูกค้าหนี้เงินกู้และบัญชีลูกค้าหนี้จำนอง (Modified P&A) การให้สิทธิสถาบันการเงินรับซื้อ (Assuming Institutions) ในการขายสินทรัพย์คืนแก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (P&A with Put Options) และการดำเนินการจัดสินทรัพย์ให้เป็นกลุ่มก้อน (เช่น การจัดกลุ่มหนี้เงินกู้จากธุรกิจประเภทเดียวกัน การจัดกลุ่มลูกค้าหนี้จำนองตามอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน) เพื่อให้ Assuming Institutions เข้ามารับช่วงต่อ (P&A with Asset Pools) เป็นต้น
- Whole Bank P&A เป็นวิธีการซื้อและรับภาระทั้งหมด โดย Assuming Institutions รับซื้อสินทรัพย์พร้อมภาระหนี้ทั้งหมดในสภาพตามเป็นจริง ทั้งนี้ การดำเนินการด้วยวิธีนี้จะต่างกับวิธีการควบรวมและโอนกิจการ (Merger and Acquisition: M&A) ตรงที่ กรณี P&A ผู้ถือหุ้นเดิมของสถาบันการเงินที่มีปัญหาจะไม่เกี่ยวข้อง ในขณะที่กรณี M&A ผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินที่มีปัญหาอาจยังคงมีสิทธิในการถือหุ้นภายใต้สถาบันการเงินใหม่
- การจ่ายคืนเงินฝาก (Payout) เมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการ หน่วยงานประกันเงินฝากจะทำหน้าที่จ่ายคืนเงินฝากให้แก่ผู้ฝากของสถาบันการเงินดังกล่าวตามวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่กำหนดตามกฎหมายและดำเนินการชำระบัญชีสินทรัพย์ของสถาบันการเงินนั้น เพื่อชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้ต่อไป
- การให้ความช่วยเหลือทางการเงินสถาบันการเงินเพื่อฟื้นฟูกิจการ (Open Bank Assistance : OBA) เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาโดยไม่ปิดกิจการ โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจให้กู้ยืม ซื้อสินทรัพย์ หรือฝากเงินเข้าสถาบันการเงินดังกล่าว
- การจัดตั้งสถาบันการเงินชั่วคราวเพื่อรีบโอนหนี้สินและทรัพย์สิน (Bridge Bank) เป็นการจัดตั้งสถาบันการเงินชั่วคราวเพื่อรับโอนหนี้สินและทรัพย์สิน จนกว่าจะมีสถาบันการเงินอื่นที่สนใจมารับช่วงต่อกิจการด้วยวิธีการนี้ สินทรัพย์บางส่วนจะถูกโอนไปยัง Bridge Bank ในขณะที่สินทรัพย์ส่วนที่เหลือจะผ่านกระบวนการพิทักษ์ทรัพย์หรือชำระบัญชีต่อไป อย่างไรก็ดี หน่วยงานภาครัฐอาจมีส่วนในการบริหารจัดการ Bridge Bank หรืออาจให้ความช่วยเหลือแก่ Bridge bank ในด้านอื่นๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ การโอนสินทรัพย์ไปยัง Bridge Bank สามารถทำได้โดยแยกสถาบันการเงินที่มีปัญหาออกเป็น 2 ส่วน โดยสินทรัพย์ส่วนที่ดี (Performing Assets) จะโอนไปยัง Bridge Bank และในส่วนของสินทรัพย์ส่วนที่เหลือจะผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหรือการชำระบัญชีหรือโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Corporation)
- การลดทุนก่อนที่จะเพิ่มทุนเพื่อให้ผู้ถือหุ้นต้องรับความเสียหายก่อน (Bail-in) เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาสถาบันการเงินโดยการกำหนดให้เจ้าหนี้ หรือผู้ถือหุ้นรับความเสียหาที่เกิดจากปัญหาสถาบันการเงินด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการตัดบัญชีหนี้สูญบางส่วน หรือการแปลงหนี้สินให้เป็นทุน
โดย: ฝ่ายวางแผนและวิจัย
ปรับปรุงล่าสุด
28 ก.พ. 2567
สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
Infographics
วิดีโอ
ข่าวประชาสัมพันธ์