บทบาท/หน้าที่ สถาบันประกันเงินฝากในต่างประเทศ : ความหลากหลายทางโครงสร้าง

ระบบคุ้มครองเงินฝากนับได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการทางการเงินในประเทศ ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับการมีหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝาก อย่างไรก็ดี การออกแบบโครงสร้างของระบบคุ้มครองเงินฝากของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของขอบเขตอำนาจหน้าที่ รวมทั้งวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ซึ่งรูปแบบโครงสร้างการคุ้มครองเงินฝากสามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภท ตามขอบเขตของอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. Paybox : หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากมีวัตถุประสงค์หลักในการทำหน้าที่จ่ายคืนผู้ฝากหลังจากสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบการเงิน เนื่องจากให้การคุ้มครองผู้ฝากโดยเฉพาะผู้ฝากรายย่อยที่ไม่มีความซับซ้อนทางการเงิน โดยมุ่งเน้นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากว่าจะได้รับการจ่ายคืนโดยเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
  2. Paybox Plus : หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากมีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากการจ่ายคืน
    ผู้ฝาก เช่น การชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ เป็นต้น
  3. Loss Minimizer : หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากสามารถมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กว้างขึ้น โดยอาจมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เช่น สามารถเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินได้ หรือให้การสนับสนุนทางการเงินแก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน
  4. Risk Minimizer : หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากมีอำนาจหน้าที่เต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา รวมไปถึงการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การเข้าตรวจสอบสถาบันการเงิน หรือร้องขอรายงานผลการตรวจสอบสถาบันการเงิน

บทบาท และอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการของหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

Pay-box Pay-box Plus Loss Minimiser Risk Minimiser
Bangladesh Azerbaijan Indonesia Australia
Brunei Kazakhstan Japan Chinese Taipei
Hong Kong Mongolia Russia Korea
Kyrgyz Republic Singapore Philippines Malaysia
India Thailand    
  Vietnam    

(ที่มา: The Research Technical Committee of the Asia-Pacific Regional Committee. (2562). MEMBERSHIP PROFILE OF THE ASIA-PACIFIC REGIONAL COMMITTEE. INTERNATIONAL ASSOCIATION OF DEPOSIT INSURERS.)

ขอบเขตของอำนาจหน้าที่ทั้ง 4 ประเภทข้างต้นถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความหลากหลายของรูปแบบการคุ้มครองเงินฝาก โดยเฉพาะประเภทของธุรกิจที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบคุ้มครองเงินฝากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากในเอเชียแปซิฟิกบางแห่งนั้น นอกจากจะให้ความคุ้มครองธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน (deposit-taking institutions) ขอบเขตการคุ้มครองยังครอบคลุมไปถึง บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายเชิงโครงสร้างของระบบการเงินในภูมิภาคนี้ สำหรับกรณีศึกษาของหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากที่มีระบบคุ้มครองเงินฝากที่ไม่ได้จำกัดความคุ้มครองแต่เพียง deposit-taking institutions ได้แก่ หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากในสาธารณรัฐเกาหลีใต้

สถาบันประกันเงินฝากประเทศเกาหลีใต้ (KDIC) มีบทบาทเป็น Risk Minimizer ดำเนินการประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงในภาคการเงิน มีอำนาจหน้าที่ในการแทรกแซง และดำเนินการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน ด้วยบทบาทหน้าที่ดังกล่าว KDIC ได้บูรณาการระบบการคุ้มครองเงินฝาก (Integrated Protection Scheme) ของหน่วยงานในภาคการเงินเกาหลีใต้ ในปี 2541 โดยจัดตั้งกองทุนร่วม ซึ่งประกอบด้วยบัญชี 4 ประเภท ได้แก่

  1. บัญชีสำหรับกองทุนประกันเงินฝาก
  2. บัญชีสำหรับกองทุนประกันภัย
  3. บัญชีสำหรับกองทุนคุ้มครองหลักทรัพย์
  4. บัญชีสำหรับกองทุน Credit Management Fund เพื่อคุ้มครอง สถาบันการเงิน ประเภท Savings Bank

สำหรับประโยชน์จากการจัดตั้งกองทุนร่วมภายใต้ระบบ Integrated Protection Scheme มีดังนี้

  1. KDIC สามารถแก้ไขปัญหา สถาบันการเงิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถจัดสรรเงินกองทุนดังกล่าวสำหรับเป็นเงินทุนในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (resolution) ได้อย่างทันท่วงที และมีอำนาจบริหารจัดการกองทุนได้อย่างเบ็ดเสร็จ
  2. ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย เนื่องจาก KDIC เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ดูแลภาคการเงิน เมื่อเกิดวิกฤติ ประชาชนสามารถติดต่อผ่าน KDIC และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบวงจร
  3. การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กระบวนการ และบทเรียนจากการทำ resolution ในหน่วยงาน ต่าง ๆ ในภาคการเงินระหว่างกันภายในองค์กร สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากกว่า

ในส่วนของประเทศไทยนั้น สถาบันคุ้มครองเงินฝากซึ่งมีบทบาทเป็น Paybox Plus โดยมีพันธกิจด้านการจ่ายคืนผู้ฝากและขำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต รวมถึงมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสถาบันการเงินนั้น ก็ให้ความคุ้มครองหน่วยงานประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ (other deposit-taking institutions) เช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน สถาบันคุ้มครองเงินฝากคุ้มครองหน่วยงานทั้งหมด 35 แห่งซึ่งประกอบด้วย deposit-taking institutions ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ และสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ รวมทั้งหมด 30 แห่ง นอกจากนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากยังคุ้มครองหน่วยงานประเภท other deposit-taking institutions อีก 5 แห่ง ได้แก่ บริษัทเงินทุน และ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการรับฝากเงินของธนาคารพาณิชย์แต่มีเงื่อนไขและรูปแบบการระดมทุนที่แตกต่างออกไป

ทั้งนี้ แม้ระบบคุ้มครองเงินฝากของไทยจะไม่ได้ถูกกำหนดเป็นรูปแบบ Integrated Protection Scheme ดังเช่นในเกาหลีใต้ แต่ประเทศไทยก็มีการประสานความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล (เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือระหว่างกัน อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

 


โดย: ฝ่ายวางแผนและวิจัย

ปรับปรุงล่าสุด 28 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม