รู้จักธนาคารพาณิชย์

เมื่อพูดถึงธนาคาร คงไม่มีใครไม่รู้จักว่าเป็นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆทองๆ แม้แต่เด็กๆ ซึ่งยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับธนาคารมากมายนักก็ยังตอบได้ทันทีว่าถ้าต้องการเงินเมื่อไหร่ก็ไปที่ธนาคาร มีเงินอยู่แน่นอน วันนี้เรามาทำความรู้จักกับธนาคารที่เปิดดำเนินการในประเทศไทยให้มากขึ้นกันอีกนิด

ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ มีประวัติมายาวนานในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์แห่งแรก คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ที่เข้ามาก่อตั้งและทำธุรกิจตั้งแต่ พ.ศ. 2431 จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลัง ได้ริเริ่มทดลองดำเนินกิจการธนาคารพาณิชย์ในชื่อ บุคคลัภย์ (Book Club) ในปี พ.ศ. 2447 จนกระทั่งประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการในปี 2449 ภายใต้ชื่อแบงก์สยามกัมมาจล (ปัจจุบันคือธนาคารไทยพาณิชย์) และต่อมาก็ได้มีธนาคารอื่นๆจัดตั้งกันขึ้น

หน้าที่หลักที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์ คือ การรับฝากเงินจากประชาชนมาแล้วนำไปให้สินเชื่อกับผู้ที่ต้องการเงินทุนไปทำธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารพาณิชย์จึงมีลักษณะพิเศษจากธุรกิจอื่นๆ คือ มีสินค้าเป็นเงินนั่นเอง และการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย

ประเภทของธนาคารที่ให้บริการกันอยู่ในปัจจุบัน ธนาคารที่เราคุ้นเคยกันดีและไปใช้บริการฝาก ถอน โอนเงินตามสาขาที่มีอยู่ทั่วไปนั้นสามารถแบ่งได้หลายประเภท โดยธนาคารทั้ง 3 กลุ่มนี้จะรับฝากเงินและปล่อยกู้ได้ ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่ง ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย

กลุ่มที่สอง เป็นสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ที่มาเปิดในประเทศไทย

กลุ่มที่สาม ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิเศษ ตามนโยบายที่รัฐมอบหมายให้ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

สามารถตรวจสอบรายชื่อธนาคารในกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สองได้ คลิก

การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ เพราะสินค้าของธนาคารคือเงินที่ใครๆ ก็อยากได้กันทั้งนั้น ถ้าไม่มีการควบคุมดูแลให้ดีก็มีโอกาสรั่วไหล สูญหายจากการทุจริตหรือจากการบริหารงานหรือการดำเนินธุรกิจผิดพลาด และจะทำให้ผู้ฝากเงินหรือประชาชนจำนวนมากเสียหายได้ ธนาคารจึงต้องถูกควบคุมดูแลภายใต้กฎกติกาอย่างเข้มงวดของกระทรวงการคลัง

และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์

การควบคุมหลักๆ ก็คือ ให้ธนาคารมีทุนเพียงพอในการทำธุรกิจ มีการบริหารจัดการเงินสดหรือสภาพคล่องที่ดีเพื่อจะได้มีปริมาณเงินในแต่ละวันพอให้ลูกค้าถอนเงิน โอนเงิน การนำเงินฝากของประชาชนไปทำธุรกิจโดยการปล่อยกู้หรือให้สินเชื่อก็ต้องมีความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ถ้าจะให้สินเชื่อหรือให้กู้ยืมเงินก็ต้องมีวิธีการที่จะประเมินได้ว่า

ลูกหนี้สามารถจ่ายคืนเงินให้ธนาคารได้ เพราะถ้าให้สินเชื่อไปแล้วไม่ได้เงินคืนธนาคารก็จะขาดทุนและเสียหาย ลูกหนี้ที่กู้ยืมเงินไปแล้วไม่จ่ายคืนให้ธนาคาร เราก็รู้จักกันดีว่าเป็นลูกหนี้ NPL ซึ่งย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Non-Performing Loan นอกจากที่ยกตัวอย่างมาเพียงเล็กน้อยนี้แล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่องทีเดียวที่ธนาคารถูกควบคุมดูแลเพื่อความมั่นคงปลอดภัยต่อประชาชนที่เป็นลูกค้าของธนาคาร

เงินทองเป็นของหายากเมื่อได้มาเราก็ต้องเก็บรักษาให้ดี การฝากเงินไว้กับธนาคารใดเราจึงต้องแน่ใจและมั่นใจในความมั่นคงก่อนตัดสินใจนำเงินไปฝากไว้ แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เรามักคิดถึงก่อนการใช้บริการของธนาคาร เช่น มีสาขาให้เราไปใช้บริการได้สะดวกหรือไม่ บริการเป็นอย่างไร คิดค่าธรรมเนียมแพงหรือไม่ และให้ดอกเบี้ยหรือเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงต่ำกว่ากันอย่างไร เป็นต้น


ปรับปรุงล่าสุด 28 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม