ทุกคนต้องการใช้จ่ายเงินของตนได้โดยไม่ติดขัด ไม่ว่าจะจ่ายเงินสด รูดบัตรเครดิต หรือวิธีใดๆ ถือเป็นความคล่องตัวในการใช้เงิน ยิ่งคนที่มีชื่อเสียง พ่อค้า นักธุรกิจ หากจ่ายเงินสดไม่ได้ หรือจ่ายเช็คแล้วเจ้าหนี้นำไปขึ้นเงินไม่ได้ ถือเป็นเรื่องร้ายแรง เสียเครดิต และชื่อเสียงเป็นอย่างมาก
สำหรับคนที่ไม่มีเงิน ไม่มีบัตรเครดิต ก็อาจจะรักษาเครดิตของตนเองได้ โดยอาศัยสิ่งของใกล้ตัวในยามจำเป็น เช่น ทานข้าวแล้วไม่มีเงินจ่าย อาจจะมีแหวน นาฬิกา สร้อยคอวางจำนำไว้แทนเงินค่าอาหาร ก็ได้
ในบริษัท ห้างร้านทั่วไป จะรักษาความคล่องตัวทางการจ่ายเงินดังกล่าวได้ด้วย “สภาพคล่อง” ซึ่งมีได้ทั้งในรูปแบบเงินสด เงินฝากในธนาคาร ตราสารเปลี่ยนมือที่มีความคล่องตัวใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายในเวลาอันสั้น
สภาพคล่องสำหรับธุรกิจสถาบันการเงิน เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด ดังจะเห็นได้จากช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงิน เมื่อปี พ.ศ. 2540 มีบริษัทเงินทุนจำนวนมากที่ต้องปิดกิจการในที่สุดเพียงเพราะปัญหาการขาดสภาพคล่อง กล่าวคือ ไม่สามารถจ่ายเงินคืนให้กับเจ้าหนี้หรือผู้ฝากเงินได้ในทันที
ในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทางการกำหนดให้ต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่องเอาไว้อย่างน้อย 6 บาท ของเงินที่รับฝากจากประชาชน 100 บาท กล่าวคือ รับฝากเงิน 100 บาท จะนำไปให้กู้ทั้งหมด 100 บาทไม่ได้ ต้องเก็บเอาไว้เผื่อจ่ายคืนให้กับผู้ฝากเงิน 6 บาทเป็นอย่างน้อย อัตราส่วนดังกล่าว คือ ร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก แม้ดูว่าน้อยมาก เพราะหากเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น เงินจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอชำระคืนผู้ฝากเงินทั้งหมดอย่างแน่นอน แต่ก็เป็นการกำหนดอัตราส่วนไว้ในขั้นต่ำเป็นเกณฑ์ทั่วไป กล่าวคือ ในทางปฏิบัติธนาคารแต่ละแห่งจะดูจากข้อมูลในอดีต เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ปีที่ผ่านมาเคยเก็บเงินไว้เผื่อลูกค้าเบิกถอนเป็นจำนวนเท่าใด ปีนี้ ก็จะเก็บรักษาเงินสดเป็นสภาพคล่องไว้ในจำนวนใกล้เคียงกัน เพื่อให้เพียงพอแก่การที่ผู้ฝากจะถอนเงินออกไปใช้จ่ายช่วงปีใหม่ เป็นต้น การที่ผู้ฝากเงินถอนเงินของตนจากธนาคารไม่ได้ อาจจะทำให้เกิดกระแสตื่นตระหนก และเป็นข่าวด้านลบ ส่งผลกระทบร้ายแรงแก่ธนาคารในที่สุด ในทางปฏิบัติธนาคารพาณิชย์จะเตรียมสินทรัพย์อื่นที่อาจใช้ชดเชยหรือทดแทนสินทรัพย์สภาพคล่องที่กำหนดไว้โดยทางการ (เงินสดในมือ เงินฝากธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐบาล) เพื่อเตรียมพร้อมไว้สำหรับแก้ปัญหาของตนเองอีกชั้นหนึ่ง อาทิ เงินฝากในธนาคารอื่น เงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่หลักทรัพย์รัฐบาล เป็นต้น
สิ่งที่ยากสำหรับธนาคารในการบริหารสภาพคล่องก็คือ หากมีสภาพคล่องเอาไว้มากเกินไปก็จะเสียโอกาสในการใช้เงินนั้นเพื่อหารายได้ให้กับกิจการ ดังนั้น การบริหารสภาพคล่องจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดี ถือเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งของธนาคารทุกแห่ง
ปรับปรุงล่าสุด 27 ก.พ. 2567
สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
Infographics
วิดีโอ
ข่าวประชาสัมพันธ์