ระบบคุ้มครองเงินฝากของไทย

ประเทศไทยเริ่มนำระบบคุ้มครองเงินฝากอย่างเต็มรูปแบบมาใช้ โดยการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สถาบัน) ขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 เพื่อคุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงิน เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน รวมทั้งชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

การคุ้มครองเงินฝากเป็นมาตรการสำคัญของรัฐเพื่อให้การคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนผู้ฝากเงิน โดยเฉพาะผู้ฝากรายย่อยที่เป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ในระบบ ในกรณีที่สถาบันการเงินใดประสบปัญหาและถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินนั้นทุกรายจะได้รับเงินฝากคืนตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างรวดเร็ว สำหรับส่วนที่เกินวงเงินคุ้มครอง ผู้ฝากมีโอกาสได้รับเพิ่มเติมจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เมื่อมีการขายสินทรัพย์ในการชำระบัญชีสถาบันการเงินดังกล่าว นอกจากนี้ ระบบคุ้มครองเงินฝากของไทย ได้สร้างขึ้นมาตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานสากล ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่ระบุไว้ในกฎหมายอาจจะแตกต่างจากต่างประเทศตามความเหมาะสม แต่จะอยู่ในระดับที่สามารถครอบคลุมผู้ฝากเงินจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนผู้ฝากทั้งระบบวงเงินคุ้มครอง

การที่ประเทศไทยมีระบบคุ้มครองเงินฝากมีการกำหนดจำนวนวงเงินการจ่ายคืนผู้ฝากไว้ชัดเจน จะทำให้ผู้ฝากเงินมีความระมัดระวังในการฝากเงิน และให้ความสำคัญในการติดตามฐานะและผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการสร้างวินัยทางการเงิน รวมทั้งเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม นอกจากนี้ วงเงินคุ้มครองที่กำหนดไว้จำนวน 1 ล้านบาท (มีผลบังคับใช้คือวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป) ครอบคลุมจำนวนรายผู้ฝากได้กว่าร้อยละ 98 ของจำนวนผู้ฝากทั้งระบบให้ได้รับเงินฝากคืนหากมีสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต เป็นกลไกสำคัญในการดูแลผู้ฝากรายย่อยซึ่งเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ในระบบสถาบันการเงิน

เงินฝากที่คุ้มครอง

สถาบันให้ความคุ้มครองเงินฝากสกุลเงินบาทของบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ดังนี้ บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สะสมทรัพย์ เผื่อเรียก หรือบัญชีเงินฝากในทำนองเดียวกันที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม บัญชีเงินฝากจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา บัตรเงินฝาก ใบรับเงินฝาก และบัญชีเงินฝากที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นที่สถาบันการเงินรับฝากจากประชาชนหรือบุคคลใดโดยมีความผูกพันที่จะต้องจ่ายคืนแก่ผู้ฝาก 

ทั้งนี้ ไม่รวมเงินฝากในบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง และเงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน 

สถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครอง

ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ อยู่ภายใต้ระบบคุ้มครองเงินฝากโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี หากต่อไปจะขยายความคุ้มครองไปยังธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ก็สามารถกระทำได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา การติดตามฐานะและการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

B6MXsemDPg40AAAAAElFTkSuQmCC

สถาบันมีหน้าที่ติดตามฐานะและการดำเนินงานของสถาบันการเงิน โดยจะไม่ดำเนินการซ้ำซ้อนกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำหน้าที่หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน ในการนี้ ธปท. และสถาบันสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการเงินระหว่างกัน อย่างไรก็ดี กฎหมายกำหนดให้สถาบันมีอำนาจสั่งการให้สถาบันการเงินยื่นรายงานลับได้เพื่อประโยชน์ในการติดตามฐานะและการดำเนินงาน และในกรณีที่สถาบันการเงินใดประสบปัญหาและ ธปท. สั่งควบคุม สถาบันจะเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าร่วมเป็นกรรมการควบคุม

การจ่ายคืนเงินฝาก

เมื่อสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต กฎหมายกำหนดให้สถาบันประกาศให้ผู้ฝากมายื่นขอรับเงินภายใน 40 วัน นับแต่วันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยผู้ฝากมีเวลาในการยื่นขอรับเงินภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศ ซึ่งสถาบันอาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน เมื่อผู้ฝากยื่นคำขอแล้วสถาบันต้องจ่ายเงินให้ผู้ฝากภายใน 30 วัน ซึ่งการที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาการจ่ายคืนผู้ฝากไว้อย่างชัดเจน ก็เพื่อให้ผู้ฝากเกิดความมั่นใจว่าหากสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้วจะได้รับเงินฝากคืนอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เมื่อจ่ายคืนผู้ฝากเงินแล้ว สถาบันจะเข้าสวมสิทธิของผู้ฝากเงินเพื่อขอรับชำระเงินคืนจากกองทรัพย์สินของสถาบันการเงินโดยจะมีบุริมสิทธิเหนือเจ้าหนี้สามัญอื่น

การชำระบัญชี

กฎหมายกำหนดให้สถาบันเป็นผู้ชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยสถาบันจะเข้าจัดการสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันของสถาบันการเงินที่ถูกปิด เพื่อชำระหนี้แก่สถาบันสำหรับเงินที่จ่ายคืนผู้ฝากไปแล้ว หลังจ่ายคืนเงินแก่เจ้าหนี้อื่นในลำดับที่มีบุริมสิทธิเหนือกว่า และหากมีเงินเหลือสถาบันอาจนำเงินมาเฉลี่ยคืนให้แก่เจ้าหนี้สามัญซึ่งรวมถึงผู้ฝากที่มีเงินฝากในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ได้รับการคุ้มครองด้วย ก่อนที่สถาบันจะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งให้สถาบันการเงินนั้นล้มละลาย

เงินกองทุนคุ้มครองเงินฝาก

เงินที่สถาบันนำมาใช้จ่ายคืนผู้ฝากเงินนั้น เป็นเงินที่สถาบันการเงินสมาชิกนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากตามอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าอัตราดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองตามช่วงเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ปัจจุบันกำหนดอัตราเงินนำส่งไว้ที่ร้อยละ 0.01 ต่อปี ทั้งนี้ หลังจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว สถาบันจะได้รับชำระคืนสำหรับเงินที่จ่ายคืนผู้ฝากไปแล้ว ซึ่งจะส่งคืนเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก

มาตรฐานสากลของระบบคุ้มครองเงินฝาก

วิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2551 ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีส่วนในการช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงมากเกินกว่าที่เป็น กล่าวคือ การที่ประเทศต่าง ๆ ได้นำมาตรการให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินเต็มจำนวนหรือมีการปรับเพิ่มวงเงินคุ้มครองเป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกของประชาชนไม่ให้รีบเร่งไปถอนเงินจนสถาบันการเงินเกิดปัญหาสภาพคล่องลุกลามต่อเนื่อง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสถาบันการเงิน และเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของ

ระบบสถาบันการเงินในภาพรวม

ในช่วงกลางปี 2552 สมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศ (International Association of Deposit Insurers : IADI) และ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ได้ร่วมกันจัดทำและเผยแพร่หลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผล (Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems : Core Principles) โดยพัฒนามาจากประสบการณ์จริงซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถาบันประกันเงินฝากในประเทศที่มีบริบทแตกต่างกันได้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานสากลให้สถาบันประกันเงินฝากในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของระบบประกันเงินฝาก Core Principles นี้ ถือเป็นการวางหลักเกณฑ์มาตรฐานกลางของระบบประกันเงินฝาก เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางดำเนินการสำหรับประเทศที่ต้องการนำระบบประกันเงินฝากมาใช้ หรือประเทศที่ต้องการปรับปรุงระบบประกันเงินฝากของตนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประเทศต่าง ๆ สามารถกำหนดรูปแบบการดำเนินงานของระบบประกันเงินฝากของตนให้แตกต่างจากหลักการสากลของระบบประกันเงินฝากได้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและการเงินในแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ดี การที่ประเทศต่าง ๆ จะมีระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผลได้นั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบเบื้องต้นที่มีความสำคัญ 4 ประการ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของระบบประกันเงินฝาก ประกอบด้วย

  1. การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างสม่ำเสมอ
  2. การดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาลของหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน (Financial Safety Net)
  3. การมีระบบกำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงินที่เข้มข้น
  4. การมีระบบกฎหมาย ระบบบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลที่ดี

Core Principles ซึ่งได้รับการอนุมัติและนำออกเผยแพร่ในเดือนมิถุนายน 2552 และได้รับการทบทวนปรับปรุงในเดือนพฤษภาคม 2559 จำแนกได้เป็น 18 หัวข้อ คลิกเพื่ออ่านรายละเอียด 


ปรับปรุงล่าสุด 28 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม